Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 291 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 291 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 291” คืออะไร? 


“มาตรา 291” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 291 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง หรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 291” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 291 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7004/2559
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนนั้น ต้องเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยโดยตรง เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเพียงบุคคลภายนอกที่อาจจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในส่วนแพ่งเท่านั้น ไม่ใช่เป็นผู้กระทำความผิดคดีนี้ที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยโดยตรง ผู้ร้องจึงไม่อาจขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เข้ามาในคดีเพื่อให้ร่วมรับผิดในส่วนแพ่งได้ ผู้ร้องชอบที่จะนำคดีไปฟ้องจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นคดีแพ่งใหม่ต่างหากจากคดีนี้
จำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถกระบะกับจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถโดยสารประจำทางที่ผู้ร้องนั่งโดยสารมาด้วยต่างประมาทด้วยกัน มิใช่เป็นการร่วมกันกระทำละเมิด เมื่อผู้ร้องมิได้มีส่วนทำความผิดด้วยและความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายอันเดียวกัน เป็นหนี้อันจะแบ่งแยกจากกันชำระมิได้ ผู้ทำละเมิดทุกคนต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 301 ประกอบมาตรา 291 จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายทั้งหมดต่อผู้ร้อง ศาลจะวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ประมาทน้อยกว่าจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายน้อยกว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใดเป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ด้วยกันเอง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 291, ม. 301
ป.วิ.อ. ม. 44/1


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12384/2558
การที่ลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ชั้นต้นร่วมกับจำเลยในคดีนี้ ชำระหนี้บางส่วนให้แก่เจ้าหนี้และเจ้าหนี้มีหนังสือปลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษารายนั้นแล้วก็ตาม หนังสือดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงเจตนาของเจ้าหนี้ว่าไม่ประสงค์ที่จะเรียกให้ลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษารายนั้นชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่เจ้าหนี้จนสิ้นเชิง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 เท่านั้น ไม่มีผลทำให้จำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ส่วนที่เหลือภายหลังหักชำระหนี้แต่อย่างใดเพราะหนี้ตามคำพิพากษายังมิได้ชำระโดยสิ้นเชิง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือแก่เจ้าหนี้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 229, ม. 291, ม. 293, ม. 296, ม. 682 วรรคสอง


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4317/2558
การที่โจทก์ไม่ดำเนินการสืบหาที่อยู่ของจำเลยที่ 1 เพื่อส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ใหม่ และแถลงต่อศาลภายในกำหนดเวลา 1 เดือน โดยปล่อยให้เวลาล่วงพ้นไปเป็นเวลาถึง 3 เดือนเศษ แม้โจทก์ฎีกาอ้างว่ามีเหตุสุดวิสัยเกี่ยวกับภัยพิบัติน้ำท่วม ทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการภายในระยะเวลาที่ศาลสั่งได้ก็ตาม แต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นก็ยังคงเปิดทำการอยู่ โจทก์สามารถสื่อสารกับศาลชั้นต้นได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าทางโทรศัพท์ หรือทางสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่โจทก์ก็หาได้กระทำไม่ กรณีจึงมิใช่เหตุสุดวิสัย ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 1
เมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยของจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เท่ากับหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ต้องชำระตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดมากไปกว่าหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ต้องชำระแก่โจทก์เนื่องจากเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกกันชำระได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 291, ม. 301, ม. 425, ม. 426
ป.วิ.พ. ม. 23, ม. 174 (2), ม. 246
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที