Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 253 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 253 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 253” คืออะไร? 


“มาตรา 253” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 253 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าหนี้มีอยู่เป็นคุณแก่บุคคลผู้ใดในมูลอย่างหนึ่งอย่างใดดังจะกล่าวต่อไปนี้ บุคคลผู้นั้นย่อมมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้ คือ
              (๑) ค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกัน
              (๒) ค่าปลงศพ
              (๓) ค่าภาษีอากร และเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำให้แก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นนายจ้าง
              (๔) ค่าเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นประจำวัน “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 253” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 253 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14006/2558
ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 9 และ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 51 ซึ่งบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวนั้นเป็นเพียงกำหนดลำดับหนี้เงินทดแทน เงินสมทบและเงินเพิ่มที่นายจ้างค้างชำระกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคมให้เป็นหนี้บุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของนายจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้และให้อยู่ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากรตาม ป.พ.พ. โดยมิได้มีบทบัญญัติใดที่กำหนดว่าหนี้นั้นจะต้องเป็นหนี้ที่นายจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้ค้างชำระอยู่ในปีใดอย่างบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรที่ ป.พ.พ. มาตรา 256 บัญญัติให้ใช้สำหรับเอาบรรดาค่าภาษีอากรในที่ดิน ทรัพย์สิน หรือค่าภาษีอากรอย่างอื่นที่ลูกหนี้ยังค้างชำระอยู่ในปีปัจจุบันและก่อนนั้นขึ้นไปอีกปีหนึ่ง

คดีนี้ผู้ร้องได้ใช้อำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. สาขาบ้านฉาง ของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 50 และ พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 47 โดยชอบตั้งแต่ปี 2554 อันถือได้ว่าเป็นวันที่ผู้ร้องใช้อำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระเงินทดแทน เงินสมทบและเงินเพิ่มชำระหนี้แล้ว ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ดังกล่าวจากเงินที่อายัดในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิตามคำร้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 253 (3), ม. 256
พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ม. 9, ม. 47
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ม. 50, ม. 51


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3094/2557
ผู้ร้องเป็นเพียงนิติบุคคลซึ่งผู้ตายถือหุ้นอยู่ ถึงแม้ว่าผู้ร้องจะเป็นผู้จัดการทำศพของผู้ตาย และได้ออกเงินค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้ แต่ผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดก หรือบุคคลที่ผู้ตายแต่งตั้งไว้ให้มีหน้าที่จัดการทำศพ หรือบุคคลที่ทายาทมอบหมายให้มีหน้าที่จัดการทำศพ หรือผู้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุด หรือบุคคลที่ศาลเห็นสมควรตั้งให้จัดการทำศพ ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 ค่าใช้จ่ายในการจัดการทำศพผู้ตายที่ผู้ร้องจ่ายไปจึงไม่เกิดมีหนี้เป็นคุณในการจัดการทำศพนั้น อันอาจเรียกได้ตามบุริมสิทธิที่ระบุไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 253 (2) ดังที่ บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1650 ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะใช้สิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 253 (2), ม. 1649, ม. 1650, ม. 1713


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3766/2545
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 วางหลักไว้ว่า การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นย่อมไม่กระทบถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมายนั้น คำว่าสิทธิอื่น ๆต้องเป็นสิทธิที่เทียบเคียงได้กับบุริมสิทธิ แต่กรณีของโจทก์แม้จะได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทกับจำเลยที่ 1 ก่อนที่นายอำเภอจะมีคำสั่งให้ยึดที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าว และโจทก์ได้ชำระราคาให้จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่สิทธิของโจทก์เป็นเพียงบุคคลสิทธิที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้โจทก์ตามสัญญาดังกล่าวได้ก่อนบุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1300 เท่านั้น ต่างจากหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อรัฐ เป็นหนี้บุริมสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 253 ทั้งขณะที่นายอำเภอมีคำสั่งให้ยึดที่ดินและบ้านพิพาทเพื่อนำออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระภาษีนั้น ที่ดินและบ้านพิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 อยู่ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจจดทะเบียนซื้อขายโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ได้ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 12 ทวิ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 253, ม. 1300
ป.วิ.พ. ม. 55, ม. 287
ป.รัษฎากร ม. 12, ม. 12 ทวิ
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที