Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 251 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 251 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 251” คืออะไร? 


“มาตรา 251” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 251 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ผู้ทรงบุริมสิทธิย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้อันค้างชำระแก่ตน จากทรัพย์สินนั้นก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ โดยนัยดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ หรือบทกฎหมายอื่น “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 251” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 251 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15479/2558
ป.พ.พ. มาตรา 251 บัญญัติว่า "ผู้ทรงบุริมสิทธิย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้อันค้างชำระแก่ตนจากทรัพย์สินนั้นก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ โดยนัยดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ หรือบทกฎหมายอื่น" บุริมสิทธิจึงมีลักษณะเป็นสิทธิอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ กรณีจึงต้องมีหนี้ที่ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้ก่อน เจ้าหนี้จึงสามารถใช้สิทธิของตนในอันที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนเจ้าหนี้คนอื่น ดังนั้น ไม่ว่าโจทก์จะเรียกร้องเอาค่ารักษาอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 274 วรรคหนึ่ง หรือเรียกเอาค่าจ้างทำของเป็นการงานทำขึ้นบนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 275 วรรคหนึ่ง ก็จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ที่โจทก์เรียกร้องให้ชำระหนี้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาททั้งสองแปลงและหนี้ที่เรียกร้องเอามีมูลมาจากการที่โจทก์ได้รักษาที่ดินพิพาทหรือได้ใช้จ่ายเงินไปเพื่อจะสงวนสิทธิหรือรับสภาพสิทธิหรือบังคับสิทธิอันเกี่ยวด้วยที่ดินพิพาททั้งสองแปลง หรือมีมูลจากการจ้างทำของเป็นการงานขึ้นบนที่ดินพิพาท เมื่อตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า ขณะโจทก์ก่อสร้างรั้วล้อมรอบที่ดินพิพาททั้งสองแปลงก็ดี ขณะก่อสร้างอาคาร วางระบบท่อน้ำ อุปกรณ์จ่ายน้ำ ขุดบ่อน้ำ เดินสายไฟและปลูกต้นไม้ในที่ดินพิพาท โจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง กรณีจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ได้ดูแลรักษาอสังหาริมทรัพย์ของ ท. หรือ บ. แล้วเรียกเอาค่ารักษาดูแลหรือได้ว่าจ้างให้โจทก์กระทำการต่าง ๆ ลงบนอสังหาริมทรัพย์ อันจะทำให้โจทก์มีบุริมสิทธิเหนือที่ดินพิพาททั้งสองแปลง
ตามข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะเรียกเอาค่ารักษาดูแลที่ดินพิพาทและค่าการงานที่ได้ทำลงในที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสอง การที่จำเลยทั้งสองมาฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์และเรียกค่าเสียหายกับขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ 26998 ซึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาค่ารักษาอสังหาริมทรัพย์และค่าการงานหรือไม่ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นฟ้องแย้งที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม สำหรับคำขอท้ายคำฟ้องแม้เป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง แต่ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่จะใช้เป็นข้อพิจารณาว่าฟ้องแย้งเกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมหรือไม่
การที่จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การได้ ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม บัญญัติบังคับไว้ว่าฟ้องแย้งนั้นจะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม หากเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า หากฟ้องแย้งที่จำเลยฟ้องมาในคำให้การไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ฟ้องแย้งนั้นก็ไม่ใช่ฟ้องแย้ง แม้ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งนั้นไว้เป็นฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งนั้นก็เป็นฟ้องแย้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาว่าฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเป็นฟ้องแย้งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.พ. ม. 177 วรรคสาม
ป.พ.พ. ม. 251, ม. 274 วรรคหนึ่ง, ม. 275 วรรคหนึ่ง


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7050/2549
ป.พ.พ. มาตรา 251 บัญญัติว่า "ผู้ทรงบุริมสิทธิย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้อันค้างชำระแก่ตนจากทรัพย์สินนั้นก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ โดยนัยดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้หรือบทกฎหมายอื่น" ซึ่งมีความหมายชัดเจนว่าสิทธิของผู้ทรงบุริมสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้อันค้างชำระแก่ตนจากทรัพย์สินนั้นได้ก่อนจะต้องอยู่ในกรอบแห่งบทบัญญัติของกฎหมายด้วย ดังนี้ เมื่อบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์ทั้งสามแปลงตามคำร้องของผู้ร้องมีบัญญัติหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะในมาตรา 288 ว่า "บุริมสิทธิในมูลซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้นหากว่าเมื่อไปลงทะเบียนสัญญาซื้อขายนั้น บอกลงทะเบียนไว้ด้วยว่าราคาหรือดอกเบี้ยในราคานั้นยังมิได้ชำระไซร้ บุริมสิทธินั้นก็คงให้ผลต่อไป" บทบัญญัติแห่งมาตรานี้จึงชี้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งประสงค์ให้ความเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องในกรณีนี้จะพึงใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้นั้น ผู้ร้องจะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามข้อกำหนดของกฎหมาย คือ ผู้ร้องจะต้องลงทะเบียนในขณะจดทะเบียนสัญญาซื้อขายด้วยว่า ราคาหรือดอกเบี้ยในราคาที่ยังมิได้ชำระมีเพียงใดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บุคคลภายนอกที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินประเภทนี้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าผู้ร้องมิได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ร้องจึงหามีสิทธิยกความเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิอันพึงจะได้รับชำระหนี้ที่ค้างชำระแก่ตนจากที่ดินทั้งสามแปลงก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย และได้ใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ประกอบมาตรา 278 บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยได้ไม่
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 56597, 68579 และ 81546 ของจำเลยให้แก่ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 คำร้องของผู้ร้องจึงเป็น "คำร้องขอ" และถือเป็น "คำฟ้อง" ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) ที่ผู้ร้องอ้างว่าได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเพื่อเรียกราคาที่ยังมิได้รับชำระพร้อมดอกเบี้ย ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องชนะคดีได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ดังนี้ เมื่อ "คำร้องขอ" ของผู้ร้องเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ผู้ร้องจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (1) (ก) ที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (1) (ก) ชอบแล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 251, ม. 288
ป.วิ.พ. ม. 1 (3), ม. 289, ตาราง 1 (1) ท้าย ป.วิ.พ.


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ADMIN 728/2545
การที่ลูกหนี้ซื้อที่ดินบางส่วนจากบริษัท อ. ในขณะที่ที่ดินดังกล่าวได้จดทะเบียนจำนองประกันหนี้ที่บริษัท อ. และ/หรือบริษัท ส. มีต่อธนาคาร ม. จึงเป็นการซื้อขายที่ดินโดยติดจำนองมาด้วย ซึ่งสิทธิจำนองเป็นทรัพย์สิทธิย่อมติดไปกับตัวทรัพย์นั้นโดยไม่ต้องคำนึงว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์จำนองจะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคสอง ดังนั้น ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองจึงต้องรับภารจำนองมาด้วย เจ้าหนี้จึงยังมีบุริมสิทธิเหนือที่ดินดังกล่าวในฐานะผู้รับจำนองจนกว่าจะมีเหตุให้จำนองระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 แม้ต่อมาธนาคาร ม. จะจดทะเบียนปลดจำนองเฉพาะส่วนที่ดินของบริษัท อ. แต่ส่วนของลูกหนี้ก็ยังคงติดจำนองอยู่กับธนาคาร ม. และภาระหนี้ยังเป็นของบริษัท ส. ตามเดิมเช่นนี้ ที่ดินส่วนของลูกหนี้ย่อมติดจำนองเพื่อประกันหนี้ของบริษัท ส. ที่มีต่อธนาคาร ม. ต่อไป แต่ภารจำนองของลูกหนี้ย่อมไม่เกินวงเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ย เจ้าหนี้จึงมีบุริมสิทธิเหนือที่ดินส่วนของลูกหนี้ในวงเงินดังกล่าว โดยไม่เกินจำนวนหนี้ที่บริษัท ส. ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ เมื่อเจ้าหนี้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนองจึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 6
การที่ลูกหนี้ซื้อทรัพย์ซึ่งติดจำนองมา เจ้าหนี้ก็ยังมีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์นั้นได้ ลูกหนี้มีฐานะเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองอันมีสิทธิและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 12 หมวด 5 หาทำให้ลูกหนี้มีฐานะเป็นผู้จำนองแต่อย่างใดไม่ เพราะการจำนองประกันหนี้ของลูกหนี้จะต้องมีการจดทะเบียนจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยตามมาตรา 714 เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้ทราบว่าทรัพย์สินที่จำนองนั้นเป็นประกันหนี้ของผู้ใด วงเงินเท่าใด การที่เจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงกันให้ทรัพย์สินที่ลูกหนี้ซื้อมาโดยติดจำนองนั้นเป็นการจำนองประกันหนี้ที่ลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้โดยที่ยังไม่มีการจดทะเบียนจำนอง จึงเป็นข้อตกลงที่ตกเป็นโมฆะ เจ้าหนี้มิใช่เจ้าหนี้มีประกันในหนี้ส่วนนี้
มูลหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้นั้น ปรากฏว่านอกจากมีบริษัท ส. เป็นผู้ค้ำประกันหนี้บางอันดับแล้ว ยังมีบุคคลอื่นอีกหลายคนเป็นผู้ค้ำประกันร่วมอีกด้วย ดังนั้น หากผู้ค้ำประกันคนใดชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ย่อมมีผลถึงลูกหนี้ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 292 วรรคหนึ่ง เมื่อเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากบริษัท ส. และ/หรือผู้ค้ำประกันร่วมคนอื่นเพียงใดแล้ว สิทธิของเจ้าหนี้ในการได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ย่อมลดลงมาเพียงนั้น ซึ่งในส่วนนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้วางเงื่อนไขเกี่ยวกับการชำระหนี้ไว้ และศาลล้มละลายกลางก็มิได้แก้ไขให้ถูกต้อง กรณีเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 251, ม. 292, ม. 702, ม. 714, ม. 744
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 6, ม. 90/26
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที