Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 240 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 240 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 240” คืออะไร? 


“มาตรา 240” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 240 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ การเรียกร้องขอเพิกถอนนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือพ้นสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 240” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 240 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5686/2561
การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันจะต้องตกอยู่ในบังคับแห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 กรณีต้องเป็นเรื่องที่ลูกหนี้เป็นเจ้าของทรัพย์มีอำนาจทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์นั้น อันเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่า นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง ส. ผู้ขาย กับจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อ เกิดจากเจตนาลวงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 กรณีจึงไม่ใช่เป็นการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องภายในอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 แม้ขณะที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินแก่จำเลยที่ 2 ในคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ 1061/2556 ศาลฎีกายังไม่ได้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่าง ส. กับจำเลยก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนโดยไม่สุจริต จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 155 วรรคหนึ่ง, ม. 237, ม. 240


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2561
คดีเดิมที่โจทก์ฟ้อง น. และจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องให้เพิกถอนการฉ้อฉล เพราะการโอนที่ดินพิพาทของ น. ให้แก่จำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของ น. เสียเปรียบซึ่งผลของคำพิพากษาคดีดังกล่าวมีผลทำให้การโอนที่ดินพิพาทระหว่าง น. และจำเลยที่ 1 ต้องถูกเพิกถอนและ น. ต้องโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายเดิม สิทธิของโจทก์ซึ่งนำมาฟ้องคดีนี้จึงเกิดขึ้นจากคำพิพากษาของศาลในคดีก่อนนั้นเอง เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องฟ้องคดีนี้เพื่อให้เป็นไปตามผลของคำพิพากษาคดีก่อน ซึ่งโจทก์ไม่อาจที่จะบังคับคดีในคดีก่อนได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไปแล้ว การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้เพิกถอนการฉ้อฉล แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทโดยมิชอบ โดยอาศัยสิทธิตามคำพิพากษาในคดีก่อน อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ย่อมนำมา ใช้บังคับไม่ได้ แต่เป็นเรื่องการขอให้บังคับตามสิทธิที่เกิดขึ้นตามคำพิพากษา จึงต้องใช้อายุความตามมาตรา 193/32 คือ อายุความ 10 ปี
คดีเดิมโจทก์ฟ้อง น. และจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนการโอนซึ่งเป็นการโอนที่ดินพิพาทที่ น. โอนให้จำเลยที่ 1 อันเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งไม่ใช่คู่ความเดียวกันกับคดีเดิมทั้งหมด และที่สำคัญเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 โอนให้จำเลยที่ 2 เป็นการโอนคนละรายกัน และประเด็นแห่งคดีไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะคดีเดิมมีประเด็นว่า น. โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เป็นการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ คดีนี้จึงไม่ใช่ฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 744/2556 ของศาลชั้นต้น
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 240


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2560
คดีนี้โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ซึ่งเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2546 ส. เป็นเจ้าหนี้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าเสียหายแก่ตน ระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าว ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23125 และ 23126 ที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา โดยไม่ปรากฏว่า ส. ผู้เป็นเจ้าหนี้ทราบเหตุดังกล่าว เมื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 บัญญัติให้การฟ้องเรียกร้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลนั้น ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือพ้นสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น ดังนี้ อายุความ 1 ปี จึงยังไม่เริ่มนับเนื่องจาก ส. เจ้าหนี้ได้ถึงแก่ความตายไปเสียก่อนวันที่จำเลยทั้งสี่ทำนิติกรรมดังกล่าว ส. จึงมิอาจรู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนได้ แม้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จะได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีอาญาข้อหาโกงเจ้าหนี้โดยบรรยายฟ้องคดีอาญาว่า โจทก์ทราบการกระทำผิดของจำเลยทั้งสี่เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 ก็ตาม ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเจ้าหนี้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในวันดังกล่าวกรณีจึงต้องบังคับตามอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ตอนท้าย โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557 ยังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2547 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยเสน่หา สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ตอนท้าย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 240
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที