Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 229 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 229 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 229” คืออะไร? 


“มาตรา 229” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 229 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ การรับช่วงสิทธิย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมาย และย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
              (๑) บุคคลซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่เอง และมาใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกคนหนึ่งผู้มีสิทธิจะได้รับใช้หนี้ก่อนตน เพราะเขามีบุริมสิทธิ หรือมีสิทธิจำนำจำนอง
              (๒) บุคคลผู้ได้ไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์ใด และเอาเงินราคาค่าซื้อใช้ให้แก่ผู้รับจำนองทรัพย์นั้นเสร็จไป
              (๓) บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้ มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้น และเข้าใช้หนี้นั้น “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 229” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 229 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2794/2565
แม้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีหมายเลขแดงที่ 11988/2561 ให้โจทก์ในฐานะนายจ้างชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการทำละเมิดของลูกจ้างเป็นค่าขนส่งสินค้าไปกลับและค่าตรวจเช็กสภาพเครื่องให้แก่บริษัท อ. และให้จำเลยในฐานะผู้รับจ้าง บริษัท อ. ดำเนินการทางพิธีการศุลกากรนำสินค้าออกจากคลังสินค้าของโจทก์ร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายดังกล่าวก็ตาม แต่ระหว่างโจทก์ผู้ทำการขนย้ายสินค้าออกจากคลังเก็บสินค้า กับจำเลยผู้รับจ้างให้ดำเนินการเกี่ยวกับการนำสินค้าเข้าผ่านพิธีการศุลกากรและนำสินค้าออกจากคลังสินค้าของโจทก์จะมีความรับผิดต่อกันหรือไม่อย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าจำเลยมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า พนักงานขับรถยกของโจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อฝ่ายเดียวเป็นเหตุให้ลังสินค้าพลิกตกกระแทกพื้นสินค้าได้รับความเสียหาย โดยจำเลยมิได้มีส่วนกระทำโดยประมาทเลินเล่อด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ความรับผิดของลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 ที่บัญญัติให้ต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นดังที่โจทก์ฎีกานั้น จะบังคับแก่กรณีนี้ได้ต่อเมื่อลูกหนี้ร่วมแต่ละคนจะมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นเท่านั้น เมื่อจำเลยมิได้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย แม้โจทก์ได้ชำระหนี้เต็มจำนวนที่โจทก์ต้องร่วมรับผิดกับจำเลย โจทก์ก็ไม่อาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยให้จำเลยชำระเงินกึ่งหนึ่งของจำนวนที่โจทก์ชำระได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 226, ม. 229, ม. 296, ม. 420, ม. 425


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2779/2564
สัญญาจ้างระหว่างบริษัท จ. กับโจทก์มีข้อตกลงกันว่า โจทก์ต้องรับผิดในความผิดและความประมาทเลินเล่อของผู้รับจ้างช่วงหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้รับจ้างช่วง และระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ผู้รับจ้างช่วงมีข้อตกลงกันว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่ออุปัทวเหตุ ความเสียหายหรือภยันตรายใด ๆ อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และพนักงานของจำเลยที่ 2 ดังนั้น เมื่อมีข้อตกลงตามสัญญากำหนดความรับผิดเป็นอย่างอื่น จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา และเมื่อโจทก์ชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัท ฮ. แล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) และ 296 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 229 (3), ม. 296


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8951/2561
โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันมีความผูกพันในอันจะต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เมื่อจำเลยไม่ชำระ และโจทก์ได้เข้าชำระหนี้นั้นแล้ว โจทก์จึงย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยรวมถึงเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ซึ่งการรับช่วงสิทธิของโจทก์ย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมายและย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่โจทก์ในทันทีตามมาตรา 229 (3)
กรณีเจ้าหนี้เรียกให้โจทก์ชำระค่าประกันชดเชยตามสัญญาค้ำประกัน แสดงว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แล้วตามมาตรา 686 ดังนั้น โจทก์ซึ่งรับช่วงสิทธิทั้งหลายของเจ้าหนี้อันมีต่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดจึงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยเพื่อต้นเงินและดอกเบี้ยที่ชำระแก่เจ้าหนี้ไป รวมทั้งดอกเบี้ยผิดนัดของต้นเงินนั้นในทันทีที่ได้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ เพียงแต่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 224 วรรคสอง เท่านั้น เมื่อเงินที่โจทก์ชำระให้แก่เจ้าหนี้ไม่ปรากฏว่าเป็นดอกเบี้ย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินที่ได้ชำระแทนไปพร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กฎหมายกำหนดตามที่โจทก์เรียกร้อง นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระหนี้แทนจำเลย เพราะจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดมาก่อนแล้ว หาใช่จะตกเป็นผู้ผิดนัดก็ต่อเมื่อโจทก์ได้เรียกให้ชำระหนี้ตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 204 วรรคหนึ่ง, ม. 224 วรรคสอง, ม. 226 วรรคหนึ่ง, ม. 229 (3), ม. 686, ม. 693
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที