Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 228 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 228 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 228” คืออะไร? 


“มาตรา 228” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 228 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าพฤติการณ์ซึ่งทำให้การชำระหนี้เป็นอันพ้นวิสัยนั้น เป็นผลให้ลูกหนี้ได้มาซึ่งของแทนก็ดี หรือได้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อทรัพย์อันจะพึงได้แก่ตนนั้นก็ดี ท่านว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ส่งมอบของแทนที่ได้รับไว้หรือจะเข้าเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเสียเองก็ได้
              ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพราะการไม่ชำระหนี้ และถ้าใช้สิทธินั้นดังได้ระบุไว้ในวรรคต้นไซร้ ค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงใช้แก่เจ้าหนี้นั้นย่อมลดจำนวนลงเพียงเสมอราคาแห่งของแทนซึ่งลูกหนี้ได้รับไว้ หรือเสมอจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ลูกหนี้จะเรียกร้องได้นั้น “

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "การชำระหนี้" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 228” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 228 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2094 - 2095/2526
เมื่อโรงภาพยนตร์ พร้อมอุปกรณ์ที่โจทก์ต้องโอนให้จำเลยที่ 3 ถูกเพลิงไหม้หมด การชำระหนี้ของโจทก์ย่อมกลายเป็นพ้นวิสัย แต่เนื่องจากโจทก์ได้เอาประกันภัยไว้แก่ผู้ร้อง โจทก์ได้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนมา จำเลยที่ 3 จึงมีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 228 ที่จะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนนั้นเสียเองได้ การเรียกร้องตามบทบัญญัตินี้มิใช่เป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนในฐานะผู้รับโอนวัตถุที่เอาประกันภัยจึงไม่ต้องมีการบอกกล่าวการโอนวัตถุที่เอาประกันภัยให้ผู้รับประกันภัยทราบตามมาตรา 875 ก่อน เมื่อเป็นกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีจำเลยที่ 3 จึงชอบที่จะบังคับเอาค่าสินไหมทดแทนในคดีนี้ได้หาใช่เป็นเรื่องข้อพิพาทตามสัญญาประกันภัยต่างหากจากคดีนี้ไม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงินประกันภัยก็เพื่อนำมาชำระให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นการอายัดสิทธิเรียกร้องอันอยู่ในบังคับแห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 310 ถึง 315 การที่ศาลชั้นต้นนัดผู้ร้องและจำเลยที่ 3 มาพร้อมกันสอบถามพิจารณาคำแถลงของคู่ความประกอบกับเอกสารต่าง ๆ แล้วมีคำสั่งให้ผู้ร้องส่งเงิน 15 ล้านบาทที่อายัดมาวางศาล เป็นการไต่สวนและมีคำสั่งตามมาตรา 312 วรรคหนึ่งแล้ว เมื่อคำสั่งนั้นมิได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรือยกเสียข้อเท็จจริงในเรื่องค่าเสียหายของโรงภาพยนตร์ และอุปกรณ์จึงเป็นอันยุติคำแถลงของผู้ร้องในชั้นเสนอหลักทรัพย์เป็นประกัน การทุเลาการบังคับที่ว่า ความเสียหายแท้จริงเป็นเงิน 8 ล้านบาทเศษ จึงไม่อาจรับฟังได้ เมื่อจำเลยที่ 3 ยื่นคำแถลงขอรับเงินที่อายัด ผู้ร้องก็มิได้โต้แย้งว่าโจทก์มีส่วนทำให้เกิดวินาศภัยแต่อย่างใด จนศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งคำแถลงของจำเลยที่ 3 ไปแล้ว จึงล่วงเลยเวลาที่ผู้ร้องจะปฏิเสธหรือโต้แย้งหนี้ที่เรียกร้องเอาแก่ตนตามมาตรา 312 ผู้ร้องหามีสิทธิโต้แย้งตามมูลหนี้เรื่องประกันภัยต่อไปไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 219, ม. 228, ม. 875
ป.วิ.พ. ม. 312


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 515/2525
จำเลยขายฝากเรือนเลขที่ 126 ขนาดกว้าง 8 ศอก ยาว 3วาให้โจทก์ ต่อมาระหว่างอายุสัญญาจำเลยรื้อเรือนดังกล่าวแล้วสร้างขึ้นใหม่กว้าง 3 วา ยาว 4 วาโดยใช้ไม้ของเรือนหลังเดิมบางส่วน และใช้บ้านเลขที่ 126 ตามเดิมดังนี้ถือได้ว่าเรือนหลังเดิมซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามสัญญาขายฝากและเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นได้สิ้นสภาพไปแล้วเรือนหลังใหม่คือเรือนพิพาทย่อมไม่ตกอยู่ในบังคับของสัญญาขายฝากโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในเรือนพิพาท ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากเรือนพิพาท คงมีอำนาจที่จะว่ากล่าวแก่จำเลยในกรณีที่จำเลยรื้อเรือนหลังเดิมอันเป็นวัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาขายฝากเท่านั้น
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 194, ม. 195, ม. 226, ม. 228, ม. 491, ม. 1316, ม. 1317
ป.วิ.พ. ม. 55


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1292/2509
เมื่อตึกแถวซึ่งเป็นวัตถุแห่งการเช่าซึ่งโจทก์เช่าจากจำเลยถูกเพลิงไหม้หมดสิ้นสัญญาเช่าก็ย่อมระงับไป
เมื่อการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ลูกหนี้ก็หามีสิทธิรับชำระหนี้ตอบแทนไม่
เมื่อจำเลยผู้ให้เช่าให้การต่อสู้คดีไว้อีกว่าหลังจากเกิดเพลิงไหม้ตึกแถวแล้วโจทก์ได้ให้จำเลยโอนสิทธิการครอบครองพื้นที่จัดสร้างอาคารในบริเวณตลาดชั่วคราวของจำเลยให้โจทก์เป็นผู้ใช้ประโยชน์เป็นการชดเชยตึกแถวที่เช่าช่วงที่ถูกเพลิงไหม้ จำเลยก็ยอมตามที่โจทก์เรียกร้อง โจทก์ได้ครอบครองที่ดินใช้ประโยชน์ปลูกสร้างตลาดชั่วคราว จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าคืนหรือค่าเสียหายใดๆจากจำเลยได้ เป็นประเด็นอีกประเด็นหนึ่ง จึงจำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงต่อไป
เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาจะรับฟังมาวินิจฉัยข้อกฎหมายได้ อาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 ข้อ 3(ข) ประกอบมาตรา 247 ศาลฎีกาให้ยกคำพิพากษาของศาลล่าง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานต่อไปได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 372, ม. 567, ม. 228
ป.วิ.พ. ม. 183, ม. 243, ม. 247
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที