Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 222 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 222 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 222” คืออะไร? 


“มาตรา 222” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 222 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ การเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ได้แก่เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น
              เจ้าหนี้จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ แม้กระทั่งเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว “

 

ค้นหา : คำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติม ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 222” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 222 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1879/2565
โจทก์ทำสัญญาตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจดหน่วยพร้อมแจ้งค่าไฟฟ้าให้แก่โจทก์ แต่พนักงานของจำเลยที่ 1 ไม่ไปจดหน่วยมิเตอร์ไฟฟ้า โจทก์ตรวจสอบพบว่ามิเตอร์ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าถูกดัดแปลงทำให้มิเตอร์ไฟฟ้าหมุนช้าลงและแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้าคลาดเคลื่อน ซึ่งเกิดการกระทำละเมิดของผู้ใช้ไฟฟ้า ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าไฟฟ้าปรับปรุงอันเกิดจากการที่มิเตอร์ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าหมุนช้าลงและแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้าคลาดเคลื่อน จึงมิใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาตั้งตัวแทนจดหน่วยพร้อมแจ้งค่าไฟฟ้า ทั้งไม่อาจถือได้ว่าเป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้คาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นพฤติกรรมเช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 ย่อมไม่มีค่าเสียหายซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจะต้องชำระหนี้เป็นอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 ถือเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ขออนุญาตฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 252
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 222
ป.วิ.พ. ม. 245 (1), ม. 252


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5452/2564
คดีก่อน โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้ค้ำประกัน ให้ร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน และให้ร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน ผลแห่งคำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความ และทำให้จำเลยทั้งสี่มีสถานะเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ นอกจากโจทก์ชอบจะร้องขอให้มีการบังคับคดีต่อไปได้ในกรณีที่จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว การที่จำเลยทั้งสี่ละเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ หากโจทก์ได้รับความเสียหายประการใด โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสี่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นได้อีก ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีก่อน จำเลยทั้งสี่มิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี และมิได้ใช้ราคาแทนให้แก่โจทก์ จนกระทั่งโจทก์ติดตามรถยนต์คืนมาในสภาพชำรุดเสียหาย ทำให้นำรถยนต์ขายทอดตลาดได้เงินต่ำกว่าราคารถยนต์ที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในคดีก่อน จึงต้องถือว่าการละเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นราคารถยนต์ส่วนที่ขาดไป จำเลยทั้งสี่ในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ซึ่งค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนอันสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อน มิใช่ค่าเสียหายที่มีหลักแหล่งข้อหาตามสัญญาเช่าซื้อหรือข้ออ้างที่อาศัยความผูกพันกันตามสัญญาค้ำประกันซึ่งเลิกกันไปแล้วและศาลชั้นต้นในคดีก่อนได้วินิจฉัยชี้ขาดจนเสร็จสิ้น จึงไม่มีเหตุที่ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบอกกล่าวผู้ค้ำประกันให้ทราบการผิดนัดของลูกหนี้ไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 215, ม. 222
ป.วิ.พ. ม. 145


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8873/2563
คดีก่อนเมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 1,852,000 บาท พร้อมให้รับผิดชำระค่าเสียหาย จำเลยนำรถยนต์ที่เช่าซื้อส่งคืนให้แก่โจทก์ในสภาพไม่เรียบร้อยอันเกิดจากความบกพร่องในการดูแลรักษาทรัพย์สินซึ่งเป็นความผิดของจำเลย โจทก์นำออกขายทอดตลาดได้เงินเพียง 1,173,707.89 บาท ไม่ครบถ้วนตามราคาใช้แทนรถยนต์ที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในคำพิพากษา ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากราคารถยนต์ส่วนที่ขาดไปและโจทก์ชอบที่จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ราคารถยนต์ส่วนที่ยังขาดจำนวนได้ เนื่องจากเป็นความเสียหายที่สืบเนื่องมาจากมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนและเกิดขึ้นหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีก่อนแล้ว มิใช่กรณีที่จะไปบังคับคดีในคดีก่อนได้เพราะการบังคับคดีในคดีก่อนจำต้องอาศัยคำพิพากษาที่วินิจฉัยให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ใดบ้างเป็นสำคัญ ทั้งยังมิใช่เป็นเรื่องที่คำพิพากษาในคดีก่อนได้กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติตามคำพิพากษาไว้และโจทก์ได้ดำเนินการบังคับชำระหนี้ก่อนหลังกันไปตามลำดับจนไม่อาจเรียกค่าขาดราคาได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 222, ม. 572
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที