Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 215 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 215 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 215” คืออะไร? 


“มาตรา 215” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 215 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ไซร้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 215” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 215 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5452/2564
คดีก่อน โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้ค้ำประกัน ให้ร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน และให้ร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน ผลแห่งคำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความ และทำให้จำเลยทั้งสี่มีสถานะเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ นอกจากโจทก์ชอบจะร้องขอให้มีการบังคับคดีต่อไปได้ในกรณีที่จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว การที่จำเลยทั้งสี่ละเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ หากโจทก์ได้รับความเสียหายประการใด โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสี่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นได้อีก ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีก่อน จำเลยทั้งสี่มิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี และมิได้ใช้ราคาแทนให้แก่โจทก์ จนกระทั่งโจทก์ติดตามรถยนต์คืนมาในสภาพชำรุดเสียหาย ทำให้นำรถยนต์ขายทอดตลาดได้เงินต่ำกว่าราคารถยนต์ที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในคดีก่อน จึงต้องถือว่าการละเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นราคารถยนต์ส่วนที่ขาดไป จำเลยทั้งสี่ในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ซึ่งค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนอันสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อน มิใช่ค่าเสียหายที่มีหลักแหล่งข้อหาตามสัญญาเช่าซื้อหรือข้ออ้างที่อาศัยความผูกพันกันตามสัญญาค้ำประกันซึ่งเลิกกันไปแล้วและศาลชั้นต้นในคดีก่อนได้วินิจฉัยชี้ขาดจนเสร็จสิ้น จึงไม่มีเหตุที่ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบอกกล่าวผู้ค้ำประกันให้ทราบการผิดนัดของลูกหนี้ไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 215, ม. 222
ป.วิ.พ. ม. 145


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4228/2564
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยจัดการสอนโครงการนานาชาติไม่เป็นไปตามที่โฆษณา แม้จำเลยจะเป็นส่วนราชการ การใช้จ่ายเงินใด ๆ ต้องเสนอของบประมาณ และการจัดซื้อจัดจ้างต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ก็ตาม แต่จำเลยเปิดการเรียนการสอนโครงการนานาชาติขึ้นนอกเหนือหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายและค่าเล่าเรียนในอัตราสูง ย่อมไม่อาจนำข้ออ้างที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการมายกเว้นหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามคำโฆษณาได้ จึงต้องถือว่าจำเลยผิดสัญญาให้บริการทางการศึกษา ในส่วนที่โจทก์ขอค่าแรกเข้าหรือเงินบริจาคคืน นั้น แม้เงินค่าแรกเข้าจะตกเป็นของจำเลย แต่โจทก์ชำระเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยตามสัญญาให้บริการทางการศึกษาซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยจึงมีหน้าที่ชำระหนี้ตอบแทนตามสัญญา เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ค่าแรกเข้าเป็นเงินที่จำเลยเรียกเก็บเพียงครั้งเดียวเพื่อใช้ในการทัศนศึกษาของแต่ละคน แต่บุตรโจทก์ได้รับค่าสูท 1 ชุด ค่าสมัครสอบ TOEFL Junior 1 ครั้ง 500 บาท จัดติว 30 ชั่วโมง แต่ยังไม่ได้ไปทัศนศึกษายังต่างประเทศ และยังไม่ได้ทดสอบภาษาอีกหลายครั้ง โจทก์จึงได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยผิดสัญญาดังเหตุข้างต้น กรณีถือว่าจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าแรกเข้าหรือเงินบริจาคคืนอันเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 ส่วนที่โจทก์ชำระค่ารักษาสภาพการเป็นนักเรียนให้แก่จำเลย 5,000 บาท นั้น เพื่อให้เด็กชาย ช. ยังคงมีสถานะเป็นนักเรียนโครงการนานาชาติของจำเลยในระหว่างที่เด็กชาย ช. ไปเรียนต่อยังต่างประเทศ ถือเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของโจทก์เอง ไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ของจำเลยที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือคืนเงินได้ ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยคืนเงินค่ารักษาสภาพการเป็นนักเรียนแก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 215, ม. 369


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2884/2563
การที่จำเลยส่งสินค้าประเภทกระป๋องและฝากระป๋องไม่เหมาะสมแก่การใช้บรรจุอาหารตามความมุ่งหมายของโจทก์ เป็นเหตุให้สินค้าประเภทอาหารทะเลบรรจุกระป๋องของโจทก์ที่ผลิตโดยใช้สินค้าประเภทกระป๋องและฝากระป๋องของจำเลยเกิดความเสียหายจากการกัดกร่อนของสนิมแลคเกอร์เคลือบพองและอื่น ๆ ย่อมถือได้ว่า จำเลยในฐานะลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนอันเกิดแต่การนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 ซึ่งการเรียกเอาค่าเสียหายนั้นได้แก่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ และเรียกค่าสินไหมทดแทนได้แม้กระทั่งเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 เงินค่าเสียหายซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตเป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ของจำเลย ส่วนค่าใช้จ่ายที่โจทก์จ้างผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ความเสียหายเพราะเหตุที่จำเลยปฏิเสธความรับผิด และค่าจัดเก็บสินค้าระหว่างที่มีข้อพิพาทระหว่างกัน เป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยในฐานะลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 215, ม. 222
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที