“มาตรา 213 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 213” คืออะไร?
“มาตรา 213” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 213 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตน เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้
เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใด เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้ แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้
ส่วนหนี้ซึ่งมีวัตถุเป็นอันจะให้งดเว้นการอันใด เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้รื้อถอนการที่ได้กระทำลงแล้วนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่าย และให้จัดการอันควรเพื่อกาลภายหน้าด้วยก็ได้
อนึ่งบทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้ หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายไม่ “
อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "ลูกหนี้ไม่จ่ายหนี้" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
ค้นหาเพิ่มเติมเรื่อง " บังคับชำระหนี้ " ได้ที่นี่ คลิกเลย !
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 213” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 213 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8816/2563
จำเลยรับซื้อทองคำของโจทก์โดยไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดข้อหาลักทรัพย์ แม้จะไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร แต่เมื่อทองคำที่จำเลยรับซื้อไว้เป็นของโจทก์ จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ติดตามเอาคืนได้ และแม้ห้างขายทองของจำเลยจะอยู่ในชุมชนการค้า แต่จำเลยมิได้ซื้อทองจากร้านค้า เพราะซื้อจาก ว. ที่นำมาขาย ถือไม่ได้ว่าซื้อทองคำในท้องตลาด จำเลยต้องคืนทองคำแก่โจทก์วัตถุแห่งหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ได้แก่ทองคำที่จำเลยรับซื้อไว้ เมื่อไม่ปรากฏว่า การปฏิบัติการชำระหนี้ด้วยการคืนทองคำเป็นการพ้นวิสัยตั้งแต่เมื่อใด จึงกำหนดให้ใช้ราคาตามราคาขายโดยเฉลี่ยของสมาคมค้าทองคำในวันฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยในขณะที่โจทก์ร้องขอให้ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 อันได้แก่วันฟ้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.อ. ม. 357
ป.พ.พ. ม. 213, ม. 1332, ม. 1336
ป.วิ.อ. ม. 40, ม. 47
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410 - 2411/2559
จำเลยเบิกความยอมรับว่าการทำสัญญาโอนหุ้นตามเอกสารหมาย จ.7 เป็นการดำเนินการต่อเนื่อง มาจากการที่ ส. ซื้อกิจการบริษัท ป. และบริษัท พ. จากโจทก์ทั้งสองและจำเลย และ พ. กับ อ. พยานจำเลยก็เบิกความได้ความว่า การทำสัญญาเอกสารหมาย จ.7 นำข้อมูลมาจากรายงานการเคลียร์หนี้ตามเอกสารหมาย ล.28 การดำเนินการตามเอกสารหมาย จ.7 นั้น พ. ได้รับมอบหมายจาก ส. ให้ไปดำเนินการเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายกิจการ โดยให้ อ. ลงนามแทนฝ่าย ส. ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของ ส. ดังนี้ฟังข้อเท็จจริงได้ว่า สัญญาโอนหุ้นตามเอกสารหมาย จ.7 เป็นสัญญาที่ทำขึ้นโดยมีเจตนาที่จะบังคับกันอย่างแท้จริงตามที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงกับ ส. ไม่ใช่นิติกรรมอำพราง ที่จำเลยฎีกาว่าวัตถุแห่งหนี้ตามเอกสารหมาย จ.7 คือหุ้นในบริษัท พ. แตกต่างจากทรัพย์สินตามเอกสารหมาย ล.6 และ ล.15 ที่วัตถุแห่งหนี้คือกิจการและทรัพย์สินของบริษัท ป. และบริษัท พ. นั้น เห็นว่าวัตถุแห่งหนี้ตามเอกสารหมาย จ.7 ก็เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุแห่งหนี้ตามเอกสารหมาย ล.6 และ ล.15 นั่นเอง เพราะเป็นการตกลงที่ต่อเนื่องกันมาไม่ใช่ข้อแตกต่างที่เป็นสาระสำคัญแต่อย่างใด
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 155 วรรคสอง, ม. 213
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14601/2558
จำเลยเป็นเพียงผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทแทนโจทก์ และโจทก์เป็นคนต่างด้าว ฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินคืนจากจำเลยที่ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทแทนโจทก์ กรณีต้องบังคับตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 ที่บัญญัติให้คนต่างด้าวที่ได้ที่ดินมาโดยไม่ได้รับอนุญาตจัดการจำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่อธิบดีกำหนด ซึ่งการบังคับให้จำหน่ายดังกล่าวหมายความเฉพาะที่ดินเท่านั้น ไม่รวมถึงสิ่งปลูกสร้างด้วยเพราะคนต่างด้าวไม่ต้องห้ามมิให้ถือกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้าง
ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 ที่บัญญัติว่าบรรดาที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้รับอนุญาต ให้คนต่างด้าวนั้นจัดการจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ฯลฯ ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น และให้นำบทบัญญัติในเรื่องการบังคับจำหน่ายที่ดินตามความในหมวด 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เป็นกรณีที่โจทก์ต้องทำนิติกรรมจำหน่ายที่ดินพิพาทถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินพิพาท แต่จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ดังนั้นหากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนโอนจำหน่ายให้ โจทก์ย่อมไม่อาจที่จะดำเนินการเพื่อจดทะเบียนจำหน่ายที่ดินพิพาทได้ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง บัญญัติว่า เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้ โดยตามคำฟ้องโจทก์เป็นกรณีโจทก์ซึ่งเป็นตัวการฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินคืนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทน ถือได้ว่าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงชอบที่จะมีคำสั่งให้จำเลยซึ่งมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนโอนจำหน่ายให้ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาได้ ตามบทบัญญัติดังกล่าว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 213
ป.ที่ดิน ม. 94