Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 203 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 203 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 203” คืออะไร? 


“มาตรา 203” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 203 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน
              ถ้าได้กำหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้ “

อ่านบทความถ้าได้หนังสือรับสภาพหนี้ ต้องดำเนินการอย่างไร? > คลิก

ดูวิธีการทวงหนี้อย่างถูกกฎหมาย ทำอย่างไรให้ได้เงินคืน ?  >คลิก

ทนายเราได้ให้คำปรึกษาจริงเรื่อง "ชำระหนี้" ทั้งหมด "211" ครั้ง ท่านควรอ่านเพื่อเป็นแนวทาง

และ เรารวบรวมข้อมูลเรื่อง "ชำระหนี้" บทความและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีบริการปรึกษาทนาย 24ชม.


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 203” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 203 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 459/2565
ในการผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดเวลาในสัญญาและไม่ครบจำนวนหลายครั้ง แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้ โจทก์ก็ยอมรับชำระไว้ทุกครั้งโดยไม่ได้ทักท้วง พฤติการณ์ย่อมแสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดเวลาในสัญญาเป็นสาระสำคัญ กรณีจึงถือว่าเป็นหนี้ไม่มีกำหนดเวลา ซึ่งถึงกำหนดชำระหนี้โดยพลัน และจะถือว่าลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ต้องเตือนให้ชำระหนี้ก่อน แต่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และมาตรา 204 วรรคหนึ่ง เมื่อได้ความว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในวันที่ 29 มีนาคม 2562 และวันที่ 1 เมษายน 2562 แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีก โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือ โดยจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือในวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดในวันที่ 3 สิงหาคม 2562 และต้องรับผิดในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2562 ซึ่งภายหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้แล้วเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 โดยจำเลยที่ 2 ได้รับไว้เองในวันที่ 10 สิงหาคม 2562 กรณีจึงถือได้ว่า เป็นการที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ไปยังจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด อันเป็นการที่โจทก์ได้ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยรวมทั้งดอกเบี้ยที่ค้างชำระเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 203, ม. 204, ม. 686


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3837/2564
การที่จะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ต้องบังคับตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 204 ซึ่งหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน แม้สัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2559 ที่มีการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้าย แต่การชำระหนี้ย่อมต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัด กล่าวคือ ให้กระทำเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือโดยดุลยภาค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 856 ผลของการเลิกสัญญาจึงก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือหลังจากหักทอนบัญชีกันแล้ว และแม้เจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 แต่วันที่สัญญาเลิกกัน ก็ไม่ใช่กำหนดเวลาชำระหนี้ที่ได้กำหนดไว้ตามวันแห่งปฏิทินอันจะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยพลัน กรณีจะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดจึงต้องได้ความว่ามีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้คงเหลือ โดยต้องมีการบอกกล่าวทวงถามแล้ว เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ และจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ 3 มกราคม 2561 เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดลงวันที่ 10 มกราคม 2561 ไปยังจำเลยที่ 3 และที่ 5 กับลงวันที่ 24 มกราคม 2561 ไปยังจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน จึงเป็นการบอกกล่าวการผิดนัดไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 203, ม. 204, ม. 686, ม. 856


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 583/2562
ตามข้อตกลงในสัญญากู้ยืมเงินที่ระบุว่า จำเลยผู้กู้จะชำระเงินที่กู้ยืมทั้งหมดคืนเมื่อได้รับส่วนแบ่งจากการขายโครงการ ก็มิได้ระบุว่า การก่อสร้างโครงการเสร็จเมื่อใดและจำเลยจะได้รับส่วนแบ่งจากการขายโครงการเมื่อใด เมื่อปรากฏว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้อยู่ในระหว่างก่อสร้างดังที่จำเลยให้การต่อสู้คดี แต่หยุดการก่อสร้างแล้ว กรณีจึงไม่มีระยะเวลาชำระหนี้ที่กำหนดลงไว้แน่นอน ทั้งจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ว่าเมื่อใดจะมีการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ และจำเลยจะได้รับส่วนแบ่งจากการขายโครงการเพียงพอที่จะชำระเงินที่กู้ยืมทั้งหมดคืนแก่โจทก์ได้ เพราะเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่ยากจะมองเห็นผลสำเร็จได้ว่าต้องใช้เวลานานเพียงใด ในเมื่อพฤติการณ์ที่โจทก์กับจำเลยพิพาทกันเกี่ยวกับสัญญาหุ้นส่วน และบริษัท ธ. ที่ทั้งสองฝ่ายถือหุ้นร่วมกันเพื่อดำเนินการโครงการดังกล่าวมีหนี้สินล้นพ้นตัว และอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น การชำระเงินกู้ยืมคืนตามข้อตกลงดังกล่าวจึงถือได้ว่าไม่ได้กำหนดเวลาอันจะพึงชำระหนี้กันไว้แน่นอน เจ้าหนี้ย่อมเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ถือว่าเป็นการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ยืมอยู่ในตัวแล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 203 วรรคหนึ่ง
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที