Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 191 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 191 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 191” คืออะไร? 


“มาตรา 191” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 191 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ นิติกรรมใดมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นกำหนดไว้ ห้ามมิให้ทวงถามให้ปฏิบัติการตามนิติกรรมนั้นก่อนถึงเวลาที่กำหนด
              นิติกรรมใดมีเงื่อนเวลาสิ้นสุดกำหนดไว้ นิติกรรมนั้นย่อมสิ้นผลเมื่อถึงเวลาที่กำหนด “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 191” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 191 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3600/2561
โจทก์ยื่นใบลาออกต่อจำเลยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2555 โดยระบุข้อความว่า วันสุดท้ายที่มาทำงาน คือ วันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ถ้าเป็นไปได้ หรือในวันที่ 9 สิงหาคม 2555 อันมีความหมายว่าโจทก์ประสงค์ลาออกโดยให้มีผลบังคับในวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 หรือวันที่ 9 สิงหาคม 2555 การขอลาออกของโจทก์เป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยโดยมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นบังคับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 191 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า นิติกรรมใดมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นกำหนดไว้ ห้ามมิให้ทวงถามให้ปฏิบัติการตามนิติกรรมนั้นก่อนถึงเวลาที่กำหนด ประกอบกับการเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้นนายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยจะเลิกกันก็ต่อเมื่อถึงกำหนดวันที่ระบุไว้ในใบลาออก คือ วันที่ 31 กรกฎาคม 2555 หรือวันที่ 9 สิงหาคม 2555 แล้วแต่กรณี มิใช่เกิดผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างแรงงานในวันที่โจทก์ยื่นใบลาออก ระหว่างระยะเวลาที่สัญญาจ้างแรงงานยังมีผลบังคับอยู่นั้นโจทก์และจำเลยยังคงมีความสัมพันธ์และมีสิทธิหน้าที่ในฐานะลูกจ้างและนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานอยู่จนกว่าสัญญาจ้างแรงงานจะสิ้นผล เมื่อจำเลยมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงโจทก์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 ว่าโจทก์ถูกปลดจากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายผลิตของบริษัท ซึ่งมีผลทันที ถือว่าจำเลยใช้สิทธิเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างสัญญาจ้างแรงงานยังมีผลบังคับอยู่ มิใช่จำเลยใช้สิทธิให้โจทก์ออกจากงานก่อนครบกำหนดตามความประสงค์ของโจทก์ในใบลาออกอันจะถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างเอง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 191 วรรคหนึ่ง, ม. 582
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 17


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3097/2551
โจทก์จำเลยตกลงกันให้จำเลยทั้งสองผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์โดยแบ่งชำระเป็น 2 งวด งวดแรกชำระภายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 งวดที่สองชำระส่วนที่เหลือภายใน 30 วัน นับแต่ชำระงวดแรก จำเลยชำระเงินงวดแรกให้โจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยต้องชำระส่วนที่ค้างชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 จะครบกำหนดชำระหนี้ในงวดที่สองวันที่ 10 มีนาคม 2542 ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงทวงถามให้จำเลยในฐานะลูกหนี้ให้ชำระหนี้ก่อนวันที่ 10 มีนาคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่กำหนดชำระหนี้ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 191 วรรคหนึ่ง

โจทก์ฟ้องจำเลยในวันสุดท้ายที่จำเลยยังมีสิทธิที่จะชำระหนี้ให้โจทก์อยู่ ยังไม่ถือว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 กลับยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่าได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนตามข้อตกลงแล้วโดยไม่ได้ยกเงื่อนเวลาชำระหนี้ขึ้นต่อสู้โจทก์ จึงเป็นการสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาโดยปริยายตาม ป.พ.พ. มาตรา 192 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 191, ม. 192
ป.วิ.พ. ม. 55


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6228/2550
จำเลยทำสัญญากู้เงินจากโจทก์โดยมีข้อตกลงในสัญญาระบุว่า "ข้อ 1 ผู้กู้ตกลงกู้และผู้ให้กู้ตกลงให้กู้เงินจำนวนทั้งสิ้น 160,000 บาท (หนึ่งแสนหกหมื่นบาทถ้วน) และในวันนี้ผู้กู้ได้รับเงินสดจำนวนดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว ข้อ 2 ผู้กู้ตกลงส่งมอบเงินกู้ตามสัญญาในข้อ 1 โดยไม่มีดอกเบี้ยให้ผู้ให้กู้ภายในระยะเวลาที่ผู้กู้ได้ขายที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกเฉพาะส่วนของผู้กู้ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5027 ระวางที่ เลขที่ดิน 329 หน้าสำรวจที่ 943 ตำบลบางแค (บางเชือกหนังฝั่งใต้) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ตามจำนวนที่ดินที่แบ่งแยกโดยประมาณ 4 ไร่ เรียบร้อยแล้ว" แสดงว่าหนี้ตามสัญญากู้เงินได้เกิดขึ้นแล้วตามสัญญาข้อ 1 ส่วนสัญญาข้อ 2 เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาชำระหนี้อันเป็นเงื่อนเวลาเริ่มต้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 191 วรรคหนึ่ง แต่การกำหนดเวลาชำระหนี้ตามที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 2 ดังกล่าว ไม่เป็นการแน่ชัดว่าเมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินเสร็จสิ้นแล้วจำเลยจะสามารถขายที่ดินได้หรือไม่ หรือจะขายที่ดินนั้นได้เมื่อใด เพราะเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่มิใช่ว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่แท้ กำหนดเวลาชำระหนี้โดยการกำหนดเงื่อนไขไว้เช่นนี้จึงไม่แน่นอน ผลเท่ากับเป็นหนี้ที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้ย่อมเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 191 วรรคหนึ่ง, ม. 203 วรรคหนึ่ง
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที