Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 175 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 175 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 175” คืออะไร? 


“มาตรา 175” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 175 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ โมฆียะกรรมนั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้
              (๑) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้เยาว์ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ผู้เยาว์จะบอกล้างก่อนที่ตนบรรลุนิติภาวะก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม
              (๒) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว หรือผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี แต่คนเสมือนไร้ความสามารถจะบอกล้างก่อนที่ตนจะพ้นจากการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์
              (๓) บุคคลผู้แสดงเจตนาเพราะสำคัญผิด หรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่
              (๔) บุคคลวิกลจริตผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามมาตรา ๓๐ ในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว
              ถ้าบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้ “

อ่านคำบทความเพิ่มเติมเรื่อง "การบอกล้างโมฆียะกรรม" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 175” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 175 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5520/2564
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 175 โมฆียะกรรมในนิติกรรมที่เกิดจากความบกพร่องในความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์ ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ การแสดงเจตนาเพราะสำคัญผิดถูกฉ้อฉลหรือถูกข่มขู่ รวมถึงบุคคลวิกลจริต และบัญญัติให้มีสิทธิบอกล้างได้ และตามมาตรา 177 ยังบัญญัติว่าอาจให้สัตยาบันเพื่อให้เป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ตั้งแต่เริ่มแรกได้ จึงชี้ชัดว่าโมฆียะกรรมไม่ใช่บทบังคับให้นิติกรรมเสียไปเลยเป็นโมฆะกรรม แต่ขึ้นอยู่กับคู่สัญญาที่แสดงเจตนาทราบเหตุแห่งโมฆียะกรรมแล้วยังคงประสงค์ที่จะให้นิติกรรมดังกล่าวนั้นมีผลบังคับหรือไม่ บทบัญญัติเกี่ยวกับการบอกล้างโมฆียะกรรมจึงไม่ใช่บทบัญญัติเคร่งครัดและเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาจึงสามารถตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการบอกล้างโมฆียะกรรมโดยแตกต่างไปจากบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง ได้ กรณีที่สมาชิกผู้เอาประกันไม่เปิดเผยความจริงหรือแถลงข้อความเท็จ บริษัทจะบอกล้างสัญญาภายในหนึ่งปีนับแต่วันทำสัญญา ทั้งตามเอกสารหมาย ล.6 ส่วนที่ 3 ข้อกำหนดทั่วไปข้อที่ 2 ระบุว่าบริษัทจะไม่โต้แย้งหรือคัดค้านความไม่สมบูรณ์ของสัญญาประกันภัยที่มีผลบังคับมาเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่กรมธรรม์มีผลบังคับ สัญญาจึงมีผลผูกพันผู้ตายกับจำเลย จำเลยไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกล้างเกินกว่าระยะเวลาดังกล่าว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 175, ม. 177, ม. 865 วรรคสอง


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2522/2560
ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 175 (4) นั้น บุคคลวิกลจริตผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 30 จะบอกล้างนิติกรรมเสียได้ในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว เมื่อ ด. ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์เนื่องจากเป็นคนวิกลจริต จนต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (สาขามีนบุรี) มีคำสั่งให้ ด. เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของโจทก์ ด. ยังคงเป็นคนวิกลจริต ไม่อาจบอกล้างโมฆียะกรรมได้ ดังนี้ที่จำเลยต่อสู้ว่า ด. บอกล้างนิติกรรมถึงวันฟ้องเกิน 1 ปี แล้ว จึงไม่อาจรับฟังได้ เมื่อต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม 2555 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (สาขามีนบุรี) มีคำสั่งให้ ด. อยู่ในความอนุบาลของโจทก์ โจทก์ในฐานะผู้อนุบาลย่อมมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 175 (2) และการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 ถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2555 ซึ่งศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้อนุบาล ด. อันเป็นเวลาที่โจทก์อาจให้สัตยาบันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 181 แล้ว นิติกรรมที่ ด. โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมโดยเสน่หาย่อมตกเป็นโมฆะมาแต่แรกตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง สิทธิเรียกร้องให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามคำฟ้องคืนแก่ ด. ของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคสาม
ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนยกเลิกนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวม หากจำเลยไม่กระทำ ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย นั้น เมื่อนิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะแล้ว คู่กรณีย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จึงต้องเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวเสีย ไม่จำต้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนยกเลิกนิติกรรมดังกล่าวตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้อีก
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 30, ม. 175 (2), ม. 175 (4), ม. 176 วรรคหนึ่ง, ม. 176 วรรคสาม, ม. 181


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16512/2557
จำเลยที่ 3 มีพฤติการณ์เป็นนายหน้าชี้ช่องให้ทำการซื้อขายที่ดินพิพาท โดยจำเลยที่ 3 รับราชการอยู่ที่สำนักงานเขตมีนบุรีโดยทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษีบำรุงท้องที่ อีกทั้งมีหลักฐานสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทย่อมสามารถตรวจสอบสภาพที่ดินได้ตลอดเวลาว่าที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นบ่อดิน ป่ารก มีน้ำท่วมขังซึ่งความนี้จำเลยที่ 1 เองก็ทราบจากผู้รับมอบอำนาจของตนที่ไปขอรังวัดสอบเขตที่ดิน เมื่อจำเลยที่ 3 พาจำเลยที่ 4 ไปดูที่ดินของ ส. แต่กลับอ้างว่าเป็นที่ดินพิพาท จึงถือว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 ไม่แจ้งความจริงให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นนายหน้าฝ่ายโจทก์ทราบ ครั้นจำเลยที่ 4 พาโจทก์ที่ 1 ไปดูที่ดินตามที่จำเลยที่ 3 เคยนำชี้ไว้ ทำให้ฝ่ายโจทก์หลงเข้าใจผิดว่าที่ดินที่ต้องการซื้อเป็นที่ดินนา มิใช่ที่ดินมีสภาพน้ำท่วมขังอันเป็นสภาพแท้จริง นอกจากนี้แล้วในวันเจรจาจะซื้อจะขายครั้งแรก โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 สอบถามสภาพที่ดิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็บอกเป็นที่ดินนา เมื่อโจทก์ที่ 1 แจ้งว่ามีคนทำนาอยู่ จำเลยที่ 2 ก็รับว่าจะจัดการให้ออกไปเสียจากที่ดิน พฤติการณ์ดังกล่าวสนับสนุนได้ว่า ฝ่ายโจทก์ประสงค์ซื้อที่ดินนามิใช่ที่ดินที่มีสภาพน้ำท่วมขัง จำเลยที่ 1 เอง ขายที่ดินต่ำกว่าราคาที่ซื้อมาในปี 2535 เกือบ 3,000,000 บาท แล้วยังยอมออกค่าธรรมเนียมการโอน ค่าภาษีที่ดิน ค่านายหน้าแทนฝ่ายโจทก์อันทำให้ขาดทุนจำนวนมาก และจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงให้ฝ่ายโจทก์ทราบ นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 เป็นคนนำชี้ที่ดิน อีกทั้งตามสภาพที่ดิน แม้โจทก์ที่ 1 จะมีสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทก็ไม่อาจตรวจสอบได้โดยง่ายยังไม่ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกลฉ้อฉล อันเป็นทางให้โจทก์ทั้งหกเสียเปรียบ เมื่อโจทก์ทั้งหกส่งมอบที่ดินนาคืนแก่ ส. และมีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าซื้อขายที่ดินโดยชอบแล้ว ถือว่าโจทก์ทั้งหกซึ่งถูกกลฉ้อฉลได้บอกล้างสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะกรรม แต่จำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉย โจทก์ทั้งหกมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินเพื่อให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดคืนเงินค่าซื้อขายพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันครบกำหนดทวงถามเป็นต้นไป
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 159, ม. 175, ม. 176, ม. 224
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที