Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 173 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 173 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 173” คืออะไร? 


“มาตรา 173” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 173 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมเป็นโมฆะ นิติกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะทั้งสิ้น เว้นแต่จะพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า คู่กรณีเจตนาจะให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะนั้นแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ “

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "นิติกรรมเป็นโมฆะ" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 173” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 173 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1267/2565
ในวันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การและคำรับของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยาน โดยคู่ความมิได้โต้แย้ง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ย่อมมีอำนาจนำข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้แถลงคัดค้านข้อเท็จจริงที่จำเลยแถลงยอมรับไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า โจทก์และจำเลยตกลงกันในเรื่องการชำระค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ว่าจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามทุนทรัพย์ในราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดิน มาวินิจฉัย ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวทำให้ราคาซื้อขายที่ดินเป็นราคาที่ต่ำกว่าเป็นจริง จึงเป็นโมฆะ เป็นผลเท่ากับไม่มีข้อตกลงให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมการโอนทั้งสิ้น จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 457 คือพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย โจทก์จะอ้างว่าเป็นหน้าที่ของจำเลยฝ่ายเดียวตามหนังสือสัญญาหาได้ไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 150, ม. 172 วรรคสอง, ม. 173, ม. 457
ป.วิ.พ. ม. 104 วรรคหนึ่ง, ม. 185


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5625/2557
การขายสลากกินแบ่งรัฐบาลมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบัญญัติข้อห้ามและกำหนดโทษแก่ผู้ที่เสนอขายหรือขายสลากเกินราคาที่กำหนดในสลากไว้ถึง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 9 ทวิ ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 9 ตรี ให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และตาม พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มาตรา 39 ให้ระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท จำเลยทำสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลกับโจทก์ โดยโจทก์ตกลงขายสลากให้แก่จำเลยในราคาฉบับละ 90 บาท หรือส่วนละ 45 บาท แต่ราคาในสลากระบุไว้เพียงฉบับละ 80 บาท หรือส่วนละ 40 บาท สัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งเกินราคาดังกล่าว จึงเป็นการอันมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายทั้งสองฉบับข้างต้น และตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้การสมัครใจซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาสูงกว่าที่กำหนดในสลาก เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการจัดจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลและการบังคับใช้กฎหมายที่ห้ามมิให้ขายสลากกินแบ่งเกินราคา โดยมีการขายเกินราคากันอย่างแพร่หลายก็ตาม หาเป็นข้อยกเว้นที่จะทำให้การขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาเป็นการอันไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายไม่

สัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลรวมส่วนที่ขายตามราคาที่กำหนดไว้ในสลากซึ่งไม่เป็นโมฆะอยู่ด้วยและสามารถแยกแยะจำนวนเงินของส่วนที่ขายเกินราคาออกได้แน่ชัด พฤติการณ์แห่งกรณีที่จำเลยซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวนมากไปจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายในทางการค้า ย่อมมีส่วนที่จำเลยได้รับประโยชน์จากการขายเกินราคาในสลากดังกล่าว อันพึงสันนิษฐานได้ว่าโจทก์และจำเลยเจตนาจะให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 สัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลระหว่างโจทก์และจำเลยจึงไม่ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ โจทก์ยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าสลากในส่วนที่ไม่เกินราคาจากจำเลยได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 150, ม. 173
พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 ม. 9 ทวิ, ม. 9 ตรี
พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 ม. 39


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2952/2554
สัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาทเป็นสัญญาที่ทำขึ้นโดยไม่มีเจตนาแท้จริงให้ผูกพันกัน เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์และจำเลย เพื่อให้โจทก์นำที่ดินและบ้านพิพาทไปจำนองเป็นประกันหนี้กู้ยืมต่อธนาคาร และให้จำเลยทำสัญญาเช่าเพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคาร สัญญาซื้อขายและสัญญาเช่าดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง
เจตนาที่แท้จริงของโจทก์และจำเลยเกิดจาก ส. และจำเลยเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยเนื่องจากเจ้าหนี้จะยึดที่ดินและบ้านที่อยู่อาศัยชำระหนี้ แต่จำเลยและ ส. ไม่สามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารมาชำระหนี้ได้ จึงต้องขอให้โจทก์เป็นผู้กู้ยืมเงินให้เพื่อนำเงินไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของจำเลย เพื่อจะนำที่ดินมาเป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยและ ส. โดยจำเลยและ ส. มีหน้าที่ร่วมกันผ่อนชำระหนี้ที่โจทก์กู้ยืมมาคนละครึ่ง หากจำเลยและ ส. ร่วมกันชำระหนี้จนครบ 10 ปี ตามสัญญาจำนอง หนี้จะหมด จำเลยมีสิทธิได้แบ่งที่ดินส่วนที่จำเลยปลูกบ้านแล้วจำนวนครึ่งหนึ่งของที่ดินทั้งหมดนอกจากส่วนที่กันเป็นถนน ส่วนที่ดินที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งจะตกเป็นของ ส. ซึ่งถือเป็นตัวการซึ่งเชิดโจทก์เป็นตัวแทนทำนิติกรรมแทน ส. สัญญาตามบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาซื้อขายที่ดินแม้จะถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท แต่เจตนาที่แท้จริงของโจทก์และจำเลยที่ต้องการให้ ส. และจำเลยมีที่ดินอยู่อาศัยคนละครึ่ง จึงให้จำเลยร่วมผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารครึ่งหนึ่ง เพื่อว่าเมื่อจำเลยร่วมผ่อนชำระหนี้ครบแล้วจะได้แบ่งที่ดินครึ่งหนึ่งจึงพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีเจตนาจะให้ตกลงในส่วนนี้แยกออกจากสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท ข้อตกลงในส่วนนี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะและมีผลผูกพันโจทก์ว่าเมื่อจำเลยร่วมผ่อนชำระหนี้จำนองแก่ธนาคารแม้เพียงบางส่วนจำเลยก็มีสิทธิในที่ดินพิพาทฐานะในเจ้าของร่วมด้วยเช่นกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 155 วรรคหนึ่ง, ม. 173, ม. 821, ม. 1356
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที