“มาตรา 1724 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1724” คืออะไร?
“มาตรา 1724” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1724 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ทายาทย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก
ถ้าผู้จัดการมรดกเข้าทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอก โดยเห็นแก่ทรัพย์สินอย่างใด ๆ หรือประโยชน์อย่างอื่นใด อันบุคคลภายนอกได้ให้ หรือได้ให้คำมั่นว่าจะให้เป็นลาภส่วนตัว ทายาทหาต้องผูกพันไม่ เว้นแต่ทายาทจะได้ยินยอมด้วย “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1724” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1724 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 432/2560
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก ไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องสอดทั้งสามที่ได้รับการยกให้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ฉะนั้น เมื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้ขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) และจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนเองแล้วโอนขายต่อไปยัง อ. ตั้งแต่ปี 2544 ที่ดินพิพาทจึงไม่ได้เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกอีกต่อไป ผู้ร้องสอดทั้งสามแม้จะเป็นทายาทของเจ้ามรดกก็ไม่มีสิทธิใดๆ ในที่ดินพิพาทแล้ว เพราะย่อมต้องมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1724 วรรคหนึ่ง และการที่ในปี 2550 จำเลยยังใช้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ฉบับเจ้าของที่ดิน ที่เคยแจ้งสูญหายไปนำเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทในนามของเจ้ามรดก ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใดๆ แก่ทายาทของเจ้ามรดก การออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทในการนำเดินสำรวจของจำเลยในฐานะทายาทของเจ้ามรดกจึงเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์เป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทคนล่าสุดก็ย่อมเป็นเจ้าของมีสิทธิในที่ดินพิพาท
อนึ่ง ผู้ร้องสอดทั้งสามได้เข้ามาในคดีเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเป็นปฏิปักษ์ต่อโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) แม้โจทก์จะได้ถอนฟ้องจำเลยไปหลังจากนั้น แต่ศาลชั้นต้นก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาในฐานที่โจทก์กับผู้ร้องสอดทั้งสามพิพาทกันในที่ดินพิพาท ดังนี้ เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีและคำขอของโจทก์ที่เดิมขอให้บังคับจำเลยโดยขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทนั้นอยู่ในสภาพที่เปิดช่องให้บังคับแก่ผู้ร้องสอดทั้งสามผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินพิพาทได้ จึงชอบที่จะบังคับให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ มิใช่แต่เพียงยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสามเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1724
ป.วิ.พ. ม. 57 (1), ม. 249 (เดิม)
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 495/2558
ที่ดินและบ้านพิพาท ป. ผู้ตายซื้อมาและปลูกสร้างหลังจาก ป. และจำเลยที่ 2 จดทะเบียนสมรสกัน จึงเป็นสินสมรส เมื่อ ป. ถึงแก่ความตายต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยากันก่อน ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งทันทีที่ ป. ถึงแก่ความตาย ส่วนอีกกึ่งหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ป. เมื่อที่ดินและบ้านส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 2 มิใช่ทรัพย์มรดก น. ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงไม่มีอำนาจจดทะเบียนโอนเป็นมรดกแก่ น. และนำไปจดทะเบียนขายฝากให้โจทก์ แม้โจทก์จะอ้างว่าสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 สมคบกับ น. หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยที่ 2 ย่อมได้รับความคุ้มครองและมีสิทธิในที่ดินและบ้านพิพาทส่วนของตน การจดทะเบียนขายฝากไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 ส่วนที่ดินและบ้านพิพาทอีกกึ่งหนึ่งซึ่งเป็นทรัพย์มรดกย่อมตกแก่ทายาท คือ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ น. คนละส่วนเท่า ๆ กัน การที่ น. จดทะเบียนที่ดินและบ้านพิพาทโอนเป็นของตนแต่ผู้เดียวและนำไปขายฝากให้โจทก์ ถือเป็นการกระทำที่อยู่ในขอบอำนาจของการจัดการมรดก หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในฐานะทายาทเห็นว่า ไม่ถูกต้องและทำให้ตนได้รับความเสียหาย ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก น. ได้ การที่โจทก์จดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินและบ้านในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริต จึงชอบและผูกพันจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ น. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1724 วรรคหนึ่ง เมื่อการจดทะเบียนขายฝากที่ดินและบ้านในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกชอบและไม่มีการไถ่การขายฝาก กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านส่วนนี้จึงตกเป็นของโจทก์ โจทก์จึงเป็นเจ้าของรวมในที่ดินและบ้านพิพาทกับจำเลยที่ 2 โดยมีส่วนเท่า ๆ กัน การที่จำเลยที่ 2 ขัดขวางมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเข้าใช้สอยทรัพย์พิพาท จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งอาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทกระทำการขัดขวางมิให้โจทก์เข้าใช้ทรัพย์พิพาท จึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ด้วยเช่นกัน
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1724
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 198/2552
จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ข. ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทของ ข. ให้ ท. เพื่อนำเงินที่ขายได้ไปชำระหนี้กองมรดกของ ข. อันเป็นอำนาจของผู้จัดการมรดก ที่กระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1724 ทายาทรวมทั้งจำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันต่อ ท. ในการที่จำเลยที่ 1 กระทำไปดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 กลับไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยไม่มีค่าตอบแทนและรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้ ท. ไปก่อนและได้รับชำระราคาครบถ้วนแล้ว ทั้งยังได้ไปดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่ ท. และอยู่ในระหว่างการดำเนินการของเจ้าพนักงานที่ดิน ท. จึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา 1300 จึงเป็นทางเสียเปรียบแก่ ท. โจทก์ในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของ ท. จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทได้ตามมาตรา 1300 ประกอบ มาตรา 1599 และมาตรา 1600
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1300, ม. 1599, ม. 1724