“มาตรา 1706 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1706” คืออะไร?
“มาตรา 1706” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1706 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นโมฆะ
(๑) ถ้าตั้งผู้รับพินัยกรรมไว้โดยมีเงื่อนไขว่า ให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินของเขาเองโดยพินัยกรรมให้แก่ผู้ทำพินัยกรรม หรือแก่บุคคลภายนอก
(๒) ถ้ากำหนดบุคคลซึ่งไม่อาจที่จะทราบตัวแน่นอนได้เป็นผู้รับพินัยกรรม แต่ผู้รับพินัยกรรมตามพินัยกรรมลักษณะเฉพาะนั้น อาจกำหนดโดยให้บุคคลใดคนหนึ่งเป็นผู้ระบุเลือกเอาจากบุคคลอื่นหลายคน หรือจากบุคคลอื่นหมู่ใดหมู่หนึ่ง ซึ่งผู้ทำพินัยกรรมระบุไว้ก็ได้
(๓) ถ้าทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้ หรือถ้าให้บุคคลใดคนหนึ่งกำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจ “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1706” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1706 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1887/2559
เมื่อบุคคลใดตายทรัพย์มรดกของบุคคลนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยผลของกฎหมาย การที่จะมีข้อกำหนดในพินัยกรรมห้ามมิให้จำหน่ายจ่ายโอนหรือแลกเปลี่ยนเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น ย่อมมีผลทำให้มรดกของผู้ตายยังเป็นทรัพย์สินของผู้ตายอยู่ ไม่ตกทอดไปยังทายาทดังที่กฎหมายว่าด้วยมรดกกำหนดไว้ ซึ่งผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยมรดก ข้อกำหนดนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่อาจใช้บังคับได้
ส่วนข้อความในพินัยกรรมที่ว่า หากการใดไม่สามารถปฏิบัติได้เพราะมีข้อจำกัด หรือข้อห้ามของกฎหมาย ให้ผู้จัดการมรดกร่วมกันพิจารณาหาวิธีดำเนินการให้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมมากที่สุดเท่าที่กระทำได้ เป็นข้อกำหนดที่ให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดกำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจ มิใช่เป็นการให้ผู้จัดการมรดกหาวิธีดำเนินการตามความประสงค์ของผู้ตายโดยการตั้งมูลนิธิ ทั้งในพินัยกรรมไม่มีข้อกำหนดที่ทำขึ้นโดยให้บุคคลใดตกอยู่ในภาระติดพันที่จะก่อตั้งมูลนิธิได้ และมิใช่จะสั่งจัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรงเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1676 ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (3)
เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินทั้งสี่แปลงตกเป็นโมฆะ ถือว่าผู้ทำพินัยกรรมมิได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินทั้งสี่แปลงให้แก่ผู้ใด ที่ดินทั้งสี่แปลงจึงตกทอดแก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1599 วรรคหนึ่ง, ม. 1603, ม. 1676, ม. 1706 (3)
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15201/2558
ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่มิได้กำหนดให้บุคคลใดได้รับทรัพย์มรดก เพียงแต่ให้ผู้จัดการมรดกจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีชื่อตามความจำเป็น นับว่าเป็นการไม่กำหนดตัวบุคคลแน่นอนให้เป็นผู้รับพินัยกรรม ทั้งระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้ว่าให้ทรัพย์สินแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจำนวนมากน้อยเพียงใดตามแต่ใจของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดก จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) และ (3) และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 ยกขึ้นวินิจฉัยตามมาตรา 142 (5)
แม้ข้อกำหนดในพินัยกรรมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) และ (3) แต่พินัยกรรมในส่วนที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาตั้งผู้จัดการมรดกยังคงสมบูรณ์ หาตกเป็นโมฆะไปด้วยไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1706 (2), ม. 1706 (3), ม. 1713, ม. 1715
ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 246, ม. 247
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2551
พินัยกรรมที่ระบุว่าเจ้ามรดกยกทรัพย์มรดกของตนทั้งหมดให้แก่จำเลยไว้ในพินัยกรรมเพียงผู้เดียว และระบุประเภทของทรัพย์สินที่ยกให้ไม่ว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์สินใดๆ รวมทั้งสิทธิเรียกร้องของเจ้ามรดกที่มีต่อลูกหนี้ให้ตกแก่จำเลย แม้จะมีข้อความในพินัยกรรมว่า จำเลยจะยกทรัพย์สินหรือแบ่งปันให้แก่ผู้ใดเมื่อเจ้ามรดกได้ถึงแก่กรรมไปแล้วก็สุดแต่ใจจะเห็นสมควร ข้อกำหนดดังกล่าวหาได้กำหนดให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่างๆ แทนเจ้ามรดกไม่ แต่มีความหมายว่า เมื่อเจ้ามรดกยกทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยจะดำเนินการอย่างไรต่อไปโดยจะยกทรัพย์มรดกหรือแบ่งปันให้แก่ผู้ใดหรือไม่ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยตามแต่จะเห็นสมควร ไม่ใช่ให้จำเลยเป็นผู้กำหนดทรัพย์มรดกทั้งหมดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจของจำเลย ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (3)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1706 (3)