Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 168 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 168 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 168” คืออะไร? 


“มาตรา 168” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 168 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่ผู้รับการแสดงเจตนาได้ทราบการแสดงเจตนานั้น ความข้อนี้ให้ใช้ตลอดถึงการที่บุคคลหนึ่งแสดงเจตนาไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งโดยทางโทรศัพท์ หรือโดยเครื่องมือสื่อสารอย่างอื่น หรือโดยวิธีอื่นซึ่งสามารถติดต่อถึงกันได้ทำนองเดียวกัน  “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 168” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 168 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6231/2556
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขาย ซึ่งถือว่าเป็นหนี้เหนือบุคคล โจทก์มีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลก็ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์มีภูมิลำเนาที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ส่วนจำเลยมีภูมิลำเนาที่อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ในการติดต่อสั่งซื้อสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้น จำเลยจะส่งใบสั่งซื้อสินค้าทางโทรสารไปยังที่ทำการโจทก์ที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี หลังจากนั้นโจทก์จะจัดส่งสินค้าให้จำเลย ณ ที่ทำการบริษัทจำเลยที่อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี เห็นว่า การที่จำเลยทำคำเสนอส่งให้แก่โจทก์ทางโทรสารเป็นเพียงการแสดงเจตนาต่อโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์บอกกล่าวสนองรับไปถึงจำเลย ณ ที่นั้นเวลานั้นแต่อย่างใด ทั้งจำเลยไม่ได้แสดงเจตนาโดยให้ถือว่าการดำเนินการจัดส่งสินค้าเป็นการสนองรับหรือปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยมีประเพณีปฏิบัติในการค้าต่อกัน โดยไม่จำต้องมีคำสนองรับที่จะก่อให้เกิดสัญญาจนทำให้เกิดมูลหนี้ ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น การที่โจทก์จัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อไปให้จำเลย ณ ที่ทำการบริษัทจำเลยซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี และจำเลยได้ยอมรับมอบสินค้าไว้แทนการบอกกล่าวสนองรับ จึงถือว่าสถานที่รับมอบสินค้าเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้น โจทก์จึงต้องฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาและมูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล ทั้งกรณีไม่ใช่เรื่องมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันในอันที่โจทก์จะเสนอคำฟ้องได้ทั้งสองศาล โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ศาลชั้นต้น ที่โจทก์ฎีกาว่า การแสดงเจตนาของจำเลยมีผลนับแต่เวลาที่โจทก์ได้ทราบการแสดงเจตนา สัญญาซื้อขายจึงเสร็จสมบูรณ์ ณ ที่ทำการโจทก์นั้นเป็นเรื่องผลของการแสดงเจตนา เมื่อไม่มีการสนองรับในขณะนั้น จึงถือไม่ได้ว่าสัญญาซื้อขายเสร็จสมบูรณ์ ณ สถานที่และในเวลาเดียวกันกับที่มีคำเสนอตาม ป.พ.พ. มาตรา 168 และ 356
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.พ. ม. 4 (1)
ป.พ.พ. ม. 168, ม. 356


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3720/2551
จำเลยทั้งสองสั่งซื้อสินค้าผ่านพนักงานของโจทก์ที่จังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสอง จากนั้นพนักงานของโจทก์ส่งใบสั่งซื้อสินค้ามายังโจทก์ที่จังหวัดสมุทรปราการในเขตศาลชั้นต้นเพื่อพิจารณาอนุมัติ เมื่อโจทก์มีคำสั่งอนุมัติก็จะจัดส่งสินค้าไปให้จำเลยทั้งสองที่จังหวัดนครปฐม ดังนี้ เป็นการที่จำเลยทั้งสองทำคำเสนอต่อโจทก์ที่ไม่ได้อยู่เฉพาะหน้า หากโจทก์ประสงค์ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยทั้งสองก็ต้องแสดงเจตนาบอกกล่าวสนองรับไปถึงจำเลยทั้งสอง อย่างไรตามการที่โจทก์จัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อไปให้จำเลยทั้งสองที่จังหวัดนครปฐมและจำเลยทั้งสองได้รับมอบสินค้าไว้แทนการบอกกล่าวสนองรับก็ถือว่าสถานที่รับมอบสินค้าเป็นสถานที่ที่มูลแห่งคดีได้เกิดขึ้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)
จำเลยทั้งสองมิได้แสดงเจตนาให้ถือว่าการกระทำของโจทก์ที่อนุมัติและดำเนินการจัดส่งสินค้าแก่จำเลยทั้งสองเป็นการบอกกล่าวสนองรับ ทั้งไม่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายมีประเพณีปฏิบัติเช่นนั้นที่จะทำให้ก่อเกิดสัญญาในอันจะทำให้เกิดมูลคดี ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น
แม้โจทก์จะอ้างว่าคู่สัญญาอาจตกลงทำสัญญากันทางโทรศัพท์หรือเครื่องโทรสารก็ตาม แต่คดีนี้เป็นสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง มิใช่เรื่องสัญญาระหว่างบุคคลที่อยู่เฉพาะหน้า ที่คู่สัญญาอาจเสนอและสนองรับกัน ณ สถานที่และในเวลาเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 168 และ 356
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 168, ม. 356, ม. 361
ป.วิ.พ. ม. 4 (1)


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 915 - 976/2545
การที่จำเลยส่งประกาศเลิกจ้างพนักงานไปยัง ธ. ผู้จัดการโรงงานทางโทรสารเพื่อปิดประกาศให้พนักงานโรงงานทราบนั้น ไม่ใช่เป็นการที่จำเลยส่งโทรสารไปถึงโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 โดยตรง แต่เป็นเรื่องที่จำเลยมอบหมายให้ ธ. บอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 ซึ่งการบอกกล่าวเลิกจ้างในลักษณะนี้เป็นการแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าจะมีผลก็ต่อเมื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 ได้ทราบการแสดงเจตนาบอกกล่าวเลิกจ้างนั้นแล้ว แม้ว่า ธ. ได้สั่งให้พนักงานนำสำเนาประกาศเลิกจ้างไปปิดประกาศไว้แล้วแต่ก็เป็นการปิดใกล้เวลาเลิกงาน พนักงานต่างไม่ทราบประกาศดังกล่าวในวันนั้น มารับทราบในวันรุ่งขึ้นบ้าง วันถัดไปบ้าง จึงต้องถือว่าการบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างของจำเลยแก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคหนึ่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 168, ม. 582
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที