Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1674 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1674 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1674” คืออะไร? 


“มาตรา 1674” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1674 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าข้อกำหนดพินัยกรรมมีเงื่อนไข และเงื่อนไขนั้นสำเร็จเสียก่อนเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย หากว่าเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นมีผลเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย หากว่าเป็นเงื่อนไขบังคับหลัง ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นเป็นอันไร้ผล
              ถ้าเงื่อนไขบังคับก่อนสำเร็จภายหลังที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย ข้อกำหนดพินัยกรรมมีผลตั้งแต่เวลาเงื่อนไขสำเร็จ
              ถ้าเงื่อนไขบังคับหลังสำเร็จภายหลังที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย ข้อกำหนดพินัยกรรมมีผลตั้งแต่เวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย แต่ตกเป็นอันไร้ผลในเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จ
              แต่ถ้าผู้ทำพินัยกรรมได้กำหนดไว้ในพินัยกรรมว่า ในกรณีที่กล่าวมาในสองวรรคก่อนนั้น ให้ความสำเร็จแห่งเงื่อนไขมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย ก็ให้เป็นไปตามเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมนั้น “


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1674” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1674 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7199/2552
ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมเขียนเองระบุว่า เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วบ้านและที่ดินพิพาทนั้น เจ้ามรดกขอยกให้สิทธิอยู่อาศัยและสิทธิเก็บกินแก่จำเลยมีอำนาจครอบครองและเก็บกินได้จนตลอดชีวิต แต่ถ้าจำเลยถึงแก่ความตายลงเมื่อใดแล้ว ให้บ้านและที่ดินดังกล่าวนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์แก่บุตรที่เกิดจาก ฉ. ทุกคน โดยให้บุตรของ ฉ. ทุกคนมีส่วนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินดังกล่าวนี้เท่ากัน ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าว เจ้ามรดกมิได้ยกกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย เพียงแต่ให้สิทธิอยู่อาศัยและเก็บกินตลอดชีวิตแก่จำเลยเท่านั้น สิทธิของจำเลยในฐานะผู้รับพินัยกรรมก็มีเพียงตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมเท่านั้น ส่วนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทจะต้องตกทอดได้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นบุตรของ ฉ. เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายแล้วตามเงื่อนไขบังคับก่อนที่ผู้ทำพินัยกรรมระบุให้พินัยกรรมมีผลบังคับให้เรียกร้องกันได้ภายหลังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1673 ประกอบมาตรา 1674 วรรคสอง จึงต้องถือว่านับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายและข้อกำหนดในพินัยกรรมเฉพาะส่วนของจำเลยมีผลนั้นก็มีผลเพียงให้จำเลยมีสิทธิอยู่อาศัยและเก็บกินในบ้านและที่ดินพิพาทจนตลอดชีวิตของจำเลยเท่านั้น จึงต้องถือว่าจำเลยครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสามผู้รับพินัยกรรมซึ่งมีเงื่อนไขบังคับก่อนและเงื่อนไขนั้นยังไม่สำเร็จเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสามได้ ทั้งนี้เพราะมาตรา 1755 รับรองสิทธิของบุคคลที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่เฉพาะบุคคลซึ่งเป็นทายาทหรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทหรือโดยผู้จัดการมรดกเท่านั้น
จำเลยไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับมรดกบ้านและที่ดินพิพาทมาเป็นของตน เนื่องจากบ้านและที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมระบุยกให้แก่โจทก์ทั้งสามแล้ว เพียงแต่เงื่อนไขบังคับก่อนที่กำหนดให้บ้านและที่ดินพิพาทตกทอดได้แก่โจทก์ทั้งสามยังไม่สำเร็จเพราะจำเลยยังไม่ถึงแก่ความตายเท่านั้น บ้านและที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์นอกพินัยกรรมอันจะตกทอดแก่จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1620
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1673, ม. 1674, ม. 1620, ม. 1755

 


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6993/2537
โจทก์บรรยายฟ้องว่าที่ดินพิพาทตั้งอยู่ซอยขี้วัวถนนเจริญกรุง แขวงบางคอแหลม เขตยานนาวา กรุงเทพมหานครเนื้อที่ 1 ไร่เศษ มีบ้านเลขที่ 34 ถึงเลขที่ 38 และเลขที่ 40 ตั้งอยู่ จำเลยทั้งสองสามารถเข้าใจดีแล้วว่าเป็นที่แปลงใด ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ว่า เป็นที่ดินโฉนดที่เท่าใด เป็นเพียงรายละเอียดซึ่งโจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ แม้จะมิได้บรรยายฟ้องมา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ข้อความตอนต้นในพินัยกรรมระบุว่า ข้าพเจ้าทำหนังสือพินัยกรรมฉบับนี้ขึ้นก่อนหน้าที่จะออกเดินทางไปต่างประเทศมีกำหนด 45 วัน หนังสือพินัยกรรมฉบับนี้ข้าพเจ้ามีความประสงค์ให้มีผลใช้บังคับได้ เมื่อข้าพเจ้าเสียชีวิตไปแล้วข้อความดังกล่าวเป็นแต่เพียงการระบุข้อเท็จจริงให้ทราบว่าได้ทำพินัยกรรมก่อนเดินทางไปต่างประเทศ มิได้กำหนดเงื่อนไขว่าหากตนเดินทางกลับจากต่างประเทศแล้วให้พินัยกรรมสิ้นผลบังคับ พินัยกรรมฉบับนี้จึงไม่มีลักษณะเป็นเงื่อนไขบังคับหลัง โจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ล.6ไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับปลอมหรือสำเนาไม่ถูกต้องกับต้นฉบับคงอ้างว่าเอกสารหมาย ล.6 เป็นเพียงสำเนาเอกสารรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าต้นฉบับของพินัยกรรมสูญหาย ศาลย่อมรับฟังสำเนาพินัยกรรมตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบเป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) ตามทะเบียนรับบุตรบุญธรรมเอกสารหมาย จ.4 ปรากฏว่าขณะเจ้ามรดกจดทะเบียนรับจำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมเจ้ามรดกมีอายุ 25 ปี จึงขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิม มาตรา 1582 ซึ่งใช้บังคับขณะนั้นที่กำหนดว่าผู้รับเป็นบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 30 ปี ส่วนการรับจำเลยที่ 2 เป็นบุตรบุญธรรมตามเอกสารหมาย จ.3 เจ้ามรดกแจ้งว่าเป็นโสด แต่ความจริงเจ้ามรดกได้จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ โจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอม จึงขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม มาตรา 1584 ซึ่งใช้บังคับขณะนั้น การจดทะเบียนรับจำเลยทั้งสองเป็นบุตรบุญธรรมย่อมไม่สมบูรณ์ไม่มีผลตามกฎหมาย มารดาเจ้ามรดกเช่าที่ดิน 3 แปลง จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีกำหนดเพียง 1 ปี เมื่อผู้เช่าตายสัญญาเช่าซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัวย่อมระงับไป จึงรับมรดกเป็นผู้เช่าต่อไปไม่ได้ การที่จำเลยทั้งสองคงครอบครองที่ดินต่อมาแล้วให้ผู้อื่นเช่าก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยทั้งสองกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หาใช่ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกแต่อย่างใด
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 537, ม. 1599, ม. 1600, ม. 1674, ม. 1582 เดิม, ม. 1584 เดิม
ป.วิ.พ. ม. 93 (2), ม. 172 วรรคสอง


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1243/2529
ป.เป็นผู้จัดการมรดกของฉ.ตามคำสั่งศาลจึงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนผู้รับพินัยกรรมป.ตายขณะที่ยังไม่ได้แบ่งทรัพย์มรดกจำเลยเข้าเป็นผู้จัดการมรดกของป.ตามคำสั่งศาลโดยระบุรายการทรัพย์สินต่างๆของป.ไว้เป็นอย่างเดียวกับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของฉ.จึงถือว่าจำเลยครอบครองทรัพย์มรดกของฉ.สืบต่อจากป.และตามคำฟ้องแสดงว่าโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวด้วยมิใช่ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของป.แต่ประการเดียวดังนี้เมื่อโจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิตามพินัยกรรมของฉ.ด้วยผู้หนึ่งได้ทวงถามจำเลยให้แบ่งปันทรัพย์มรดกแล้วจำเลยปฏิเสธสิทธิของโจทก์จึงถูกโต้แย้งโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย พินัยกรรมข้อ4ระบุว่าป.ผู้เดียวมีสิทธิในทรัพย์สินของผู้ทำพินัยกรรมแต่ให้บุตรคนอื่นๆถือประโยชน์ได้บ้างและเมื่อป.ถึงแก่กรรมลงให้จัดการแบ่งทรัพย์สินดังต่อไปนี้เว้นแต่ข้อ4.10ให้จัดการทันทีและความในข้อต่อๆไปกล่าวถึงการยกทรัพย์สินให้บุคคลอื่นๆแต่ละคนไว้อย่างละเอียดรวมทั้งการยกให้แก่ป.ด้วยและความในข้อ4.10กล่าวถึงการแบ่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลต่างๆไว้ยกเว้นป.ดังนี้หากผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะยกทรัพย์สินให้ป.แต่ผู้เดียวก็ไม่จำเป็นต้องระบุข้อความดังกล่าวซ้ำอีกพินัยกรรมดังกล่าวตีความได้ว่าเมื่อป.ถึงแก่กรรมลงจึงให้มีการแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาททั้งหลายระหว่างที่ป.ยังมีชีวิตอยู่ให้ทรัพย์มรดกยังคงรวมกันอยู่เท่านั้นหาใช่มีความหมายเลยไปถึงขนาดที่ว่าให้ทรัพย์มรดกทั้งหมดตกได้แก่ป.แต่ผู้เดียวไม่ โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์ตามพินัยกรรม2รายการแต่ทรัพย์2รายการนี้ไม่ปรากฏในบัญชีทรัพย์ท้ายคำร้องขอจัดการมรดกของจำเลยและจำเลยให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ว่าไม่ใช่เป็นของผู้ทำพินัยกรรมดังนี้ปัญหาว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่เมื่อโจทก์อ้างว่าเป็นมรดกโจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบ. ศาลพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกอันเป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ประเภทที่มิใช่ตัวเงินความรับผิดของจำเลยมีเพียงหนี้ที่จะต้องแบ่งทรัพย์มรดกที่มิใช่หนี้เงินจำเลยจึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์.
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 224, ม. 1646, ม. 1673, ม. 1674, ม. 1685, ม. 1711, ม. 1720
ป.วิ.พ. ม. 55
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th

ปรึกษาทนายตัวจริง

สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย

"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว

ทนายพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม.
4.8/5
รีวิวจากผู้ใช้งานจริงมากกว่า 16000 รีวิว
sanook ข่าวสด มติชน spring
ติดต่อเราทาง LINE