Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 164 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 164 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 164” คืออะไร? 


“มาตรา 164” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 164 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ
              การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น “

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "โมฆียะ" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "โมฆียะ" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 164” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 164 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2624/2551
จำเลยและ พ. กับพี่น้องตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร้านค้าร่วมกันโดยมีวัตถุประสงค์แบ่งปันผลกำไรระหว่างกัน จึงเข้าลักษณะสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 การที่ พ. สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์และจำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าและทำหนังสือรับสภาพหนี้แก่โจทก์เป็นการดำเนินการในฐานะหุ้นส่วนอันเป็นไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น จำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนจะต้องรับผิดร่วมกับหุ้นส่วนคนอื่นๆ โดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้นตามมาตรา 1050

จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 ยอมรับว่ามียอดหนี้ค้างชำระสำหรับการสั่งซื้อสินค้าระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม 2542 เป็นการรับสภาพหนี้ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่สั่งซื้อสินค้าในแต่ละครั้งเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2543 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15
โจทก์เข้าไปในร้านแล้วเอาเท้าวางไว้บนโต๊ะพูดจากับลูกค้าภายในร้านของจำเลยว่าสินค้าในร้านไม่มีคุณภาพ และบอกร้านค้าใกล้เคียงว่าจำเลยเป็นหนี้แล้วไม่ชำระ เป็นเพียงการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ด้วยพฤติการณ์และการกระทำที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น มิได้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะถือได้ว่าเป็นการข่มขู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 164, ม. 193/14, ม. 1012, ม. 1050


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1724/2548
โจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการซึ่งมีอำนาจเบิกถอนเงินของจำเลยจากธนาคาร โจทก์ได้เบิกเงินของจำเลยจากธนาคารมาใช้ต่อรองกับ ค. กรรมการของจำเลยให้ยอมทำสัญญาชำระค่าชดเชยแก่โจทก์เนื่องจากจำเลยมีมติให้โจทก์ออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลย เป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของโจทก์เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของโจทก์ ทำให้จำเลยเสียหายเพราะเงินขาดหายไปจากบัญชี ซึ่งหากไม่ได้เงินนั้นคืนมา ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วก็ยังมีอยู่ต่อไป การที่ ค. ยอมทำสัญญาชำระค่าชดเชยแก่โจทก์ก็เพื่อให้ได้เงินดังกล่าวกลับคืนมา สัญญาดังกล่าวจึงเกิดจากการที่โจทก์นำเงินที่เบิกไปเก็บไว้มาข่มขู่โดยแท้ การข่มขู่จึงนับว่าร้ายแรงถึงขนาดที่ทำให้สัญญาชำระค่าชดเชยเป็นโมฆียะและนับเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 164
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 119 (4)


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5165/2542
จำเลยที่ 1 หารถยนต์มาเอาประกันภัยกับโจทก์โดยได้รับบำเหน็จตอบแทนในอัตราร้อยละ 12 โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำกรมธรรม์ไปส่งให้แก่ลูกค้าและรับเบี้ยประกันภัยจากลูกค้ามามอบให้โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนของโจทก์แล้วแม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนอันมีผลให้การกระทำของทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2534 มาตรา 31(13)และมาตรา 63 ก็ตามก็เป็นเรื่องที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการแก่โจทก์และจำเลยที่ 1แต่ในระหว่างตัวแทนกับตัวการด้วยกัน ตัวแทนจะอ้างบทกฎหมายดังกล่าวเพื่อไม่ต้องรับผิดคืนเบี้ยประกันภัยที่ได้รับไว้จากลูกค้าของโจทก์หาได้ไม่ และการเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยหาใช่การที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่สัญญาตัวแทนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมีผลผูกพันบังคับกันได้ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาและโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
แม้จะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือว่าจำเลยทั้งสองยอมรับผิดชำระเบี้ยประกันแทนลูกค้าให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 เป็นบทบังคับสำหรับกิจการที่ตัวแทนไปทำกับบุคคลภายนอกแทนตัวการเท่านั้น มิได้ใช้บังคับแก่ข้อพิพาทระหว่างตัวการ กับตัวแทน จำเลยทั้งสองจึงอ้างบทบัญญัติดังกล่าวมิได้และการที่โจทก์ขู่ว่าจะกลั่นแกล้งลูกค้าที่จำเลยที่ 1 หามาเพื่อบังคับให้จำเลยลงชื่อทำสัญญารับสภาพหนี้และค้ำประกันนั้น หาใช่การข่มขู่อันจะมีผลให้การแสดงเจตนาต้องเสียไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ไม่ ทั้งการที่จำเลยที่ 1ได้ชำระหนี้ตามเช็คให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นหนี้อีกรายการหนึ่งตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้และค้ำประกัน ย่อมถือได้ว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่การที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าไม่สมบูรณ์แล้วด้วย จำเลยทั้งสองจะอ้างข่มขู่ให้พ้นความรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 164, ม. 798
ป.วิ.พ. ม. 55
พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2510 ม. 31, ม. 63
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที