“มาตรา 1630 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1630” คืออะไร?
“มาตรา 1630” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1630 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสาย แล้วแต่กรณี ในลำดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย
แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กัน แล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามาดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร “
อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "สิทธิในการรับมรดกของลูก" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "ผู้รับมรดก" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1630” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1630 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5416/2560
โจทก์เป็นบุตรที่ผู้ตายรับรองจึงเป็นทายาทโดยธรรม ส่วนจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ที่จำเลยอ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยนั้น ตามสภาพปกติธรรมดาของสังคมไทยย่อมต้องการให้ทรัพย์มรดกตกได้แก่บุตรหลาน และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 ประกอบมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้สืบสันดานซึ่งหมายถึงบุตรหลานเป็นทายาทลำดับที่ 1 โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมจะมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะผู้สืบสันดาน ส่วนจำเลยจะไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย และจำเลยยังให้การว่า ขณะผู้ตายทำพินัยกรรมผู้ตายยังอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่โรงพยาบาล พ. การทำพินัยกรรมจึงอยู่ในความรู้เห็นของจำเลย โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่โจทก์ โจทก์ต้องพิสูจน์เพียงว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่โจทก์จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 คือโจทก์เป็นทายาทโดยธรรมในฐานะผู้สืบสันดานมีสิทธิได้รับมรดกก่อนผู้ได้รับประโยชน์จากพินัยกรรม และพินัยกรรมที่อ้างว่าผู้ตายทำขึ้นที่โรงพยาบาลภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่เรือนจำ แต่ไม่ปรากฏว่ามีลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่เรือนจำรวมทั้งแพทย์และพยาบาลเข้ามาเกี่ยวข้องอันเป็นกรณีผิดปกติวิสัย ดังนี้ จำเลยจึงมีภาระพิสูจน์ว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทไม่ใช่เอกสารปลอม
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1629, ม. 1630 วรรคหนึ่ง
ป.วิ.พ. ม. 84/1
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4239/2558
ป.พ.พ. มาตรา 1470 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประกอบด้วยสินส่วนตัวและสินสมรสนั้น หมายถึงทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายย่อมทำให้การสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 สิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501 สิทธิที่จะได้รับเงินประกันชีวิต นั้น เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต และเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอกซึ่งได้รับมาหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงไม่เป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 ประกอบกับตามตารางกรมธรรม์ มิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ว่าให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนหรือแก่ผู้ใด จึงไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้โดยตรงและต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง มาใช้บังคับ คืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งได้แก่มาตรา 897 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้" ดังนั้น เงินประกันชีวิตดังกล่าวจึงต้องแบ่งให้แก่ทายาทของผู้ตายในฐานะสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1), 1630 วรรคสอง และ 1635 (1) โดยโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ตาย กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาผู้ตายต่างได้รับส่วนแบ่งคนละส่วนเท่า ๆ กันและเท่ากับโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และเด็กชาย ศ. ซึ่งเป็นทายาทชั้นบุตร
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 4 วรรคสอง, ม. 897 วรรคหนึ่ง, ม. 1470, ม. 1501, ม. 1629 (1), ม. 1630 วรรคสอง, ม. 1635 (1)
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3602/2556
คำพิพากษาในคดีก่อนที่พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย มีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547, 1557 (3) เดิม เมื่อไม่มีบทกฎหมายสารบัญญัติให้สิทธิแก่บุคคลภายนอกที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำพิพากษาว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และไม่เข้าข้อยกเว้นกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งไม่ผูกพันบุคคลภายนอกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผลของการที่ไม่อาจเพิกถอนคำพิพากษาดังกล่าวได้ ทำให้จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งเป็นทายาทลำดับแรกมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย โจทก์ซึ่งเป็นทายาทลำดับถัดลงไปย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคแรก จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิในการรับมรดกของผู้ตาย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1547, ม. 1557 (3) เดิม, ม. 1630 วรรคแรก
ป.วิ.พ. ม. 55