“มาตรา 1514 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1514” คืออะไร?
“มาตรา 1514” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1514 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคำพิพากษาของศาล การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1514” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1514 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 517/2560
ตามบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี มีข้อความว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ประสงค์จะอยู่กินกันต่อไป จึงได้ตกลงดังนี้ ในเรื่องการหย่านั้น ฝ่ายหญิงจะดำเนินการฟ้องหย่าตามกฎหมายต่อไป โดยมีโจทก์ จำเลย พนักงานสอบสวน และเจ้าพนักงานตำรวจอีกนายหนึ่งลงลายมือชื่อไว้ บันทึกดังกล่าวเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยโดยตรง มีข้อความชัดเจนว่า ทั้งสองไม่ประสงค์จะอยู่กินกันต่อไป คือต้องการแยกทางกันหรือหย่ากันนั่นเอง แม้มีข้อความในข้อ 2 ว่า ฝ่ายหญิง คือโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องหย่าตามกฎหมายต่อไปก็เป็นความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายว่าจะต้องไปดำเนินการฟ้องหย่าต่อกันเท่านั้น ข้อความดังกล่าวมิได้ลบล้างเจตนาที่แท้จริงของทั้งโจทก์และจำเลยที่ไม่ประสงค์จะอยู่กินกันต่อไปแต่อย่างใด บันทึกดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่โจทก์จำเลยประสงค์จะหย่ากัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1514 พนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานตำรวจที่ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้เขียนบันทึก เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ ได้รับรู้ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยตามข้อความในบันทึกดังกล่าว ถือได้ว่าคนทั้งสองได้ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะพยานผู้ทำบันทึกแล้ว จึงถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1514
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4230/2558
โจทก์และจำเลยเป็นอิสลามศาสนิก มีภูมิลำเนาในจังหวัดนราธิวาส สมรสกันถูกต้องตามหลักกฎหมายอิสลามและจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์มาฟ้องหย่าจำเลยโดยบรรยายเหตุแห่งการหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สภาพแห่งข้อหาจึงเป็นเรื่องครอบครัว ย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 มาตรา 3 ที่ให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงต้องใช้เหตุฟ้องหย่าตามหลักกฎหมายอิสลามมาบังคับใช้แทน ป.พ.พ. มาตรา 1516 เมื่อโจทก์ได้ถูกตัดสินให้หย่าขาดจากการเป็นภริยาจำเลยโดยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส โดยระบุไว้ในหนังสือการหย่าร้างว่า คำตัดสินนี้เป็นคำชี้ขาดตามหลักศาสนาและกฎระเบียบทุกประการ จึงเป็นการหย่ากันโดยชอบตามหลักกฎหมายอิสลาม มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้เช่นเดียวกับการหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และสามารถนำไปใช้เพื่อจดทะเบียนหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้เลย โดยโจทก์ไม่จำต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาล ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์จึงชอบแล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1514, ม. 1516
พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัด ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 ม. 3
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6337/2556
ตามข้อตกลงในเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.2 ทั้งสองฝ่ายแสดงเจตนาว่า จะหย่ากันตามกฎหมาย โดยจะไปจดทะเบียนหย่ากันต่อไป ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1514, 1515 และ 1532 บัญญัติความว่า การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย... การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน เมื่อได้จดทะเบียนสมรส... การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว และเมื่อหย่ากันแล้วให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา...ตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า จึงเป็นที่เห็นได้ว่าเมื่อหญิงชายได้สมรสกันแล้วตามกฎหมาย ความสัมพันธ์เชิงทรัพย์สินของทั้งสองฝ่ายมิได้มีเพียงที่เป็นสินสมรสและที่แยกไว้เป็นสินส่วนตัวเท่านั้น ยังมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ที่สามีภริยามีต่อกันและมีต่อบุคคลภายนอกซึ่งกฎหมายจะต้องให้ความคุ้มครองด้วย ดังเห็นได้จากบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะครอบครัว เหตุนี้ เมื่อจะตกลงยุติความสัมพันธ์ฉันสามีภริยา กฎหมายจึงกำหนดให้สามีภริยาต้องทำความตกลงเป็นหนังสือ ต้องมีพยานอีกอย่างน้อยสองคนลงลายมือชื่อเป็นพยาน และยังต้องจดทะเบียนการหย่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย ทั้งนี้ก็เพราะกฎหมายมิได้ต้องการเพียงความแน่นอนในการแสดงเจตนาการหย่าระหว่างสามีกับภริยาเท่านั้น แต่เพื่อให้เป็นที่รับรู้และอ้างอิงแก่บุคคลภายนอกได้ด้วย โดยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว จึงทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยในเรื่องการแบ่งทรัพย์สินตามที่ได้ระบุไว้นั้นยังไม่มีผลระหว่างกันตราบใดที่ยังไม่ได้จดทะเบียนการหย่า และแม้จำเลยจะสั่งจ่ายเช็คให้ไว้แก่โจทก์หลังจากทำข้อตกลงดังกล่าวแล้ว เช็คฉบับนี้ก็มีสถานะเป็นเพียงตราสารแทนค่าการแบ่งทรัพย์สินที่เป็นตัวเงินไว้ล่วงหน้า ก่อนเวลาที่การหย่าโดยความยินยอมจะได้จดทะเบียนมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพื่อจัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่าต่อไป แต่เมื่อโจทก์กับจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนการหย่า มูลหนี้ตามเช็คก็ยังไม่อาจที่จะบังคับกันได้เพราะยังไม่อาจรู้ได้ว่า ณ เวลาใดจะเป็นเวลาที่จดทะเบียนการหย่า จำเลยจึงยังไม่ต้องรับผิดตามเช็ค
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1514, ม. 1515, ม. 1532