Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 147 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 147 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 147” คืออะไร? 


“มาตรา 147” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 147 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อุปกรณ์ หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน เป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณเพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน และเจ้าของทรัพย์ได้นำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธานโดยการนำมาติดต่อหรือปรับเข้าไว้ หรือทำโดยประการอื่นใดในฐานะเป็นของใช้ประกอบกับทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น
              อุปกรณ์ที่แยกออกจากทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นการชั่วคราวก็ยังไม่ขาดจากการเป็นอุปกรณ์ของทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น
              อุปกรณ์ย่อมตกติดไปกับทรัพย์ที่เป็นประธาน เว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 147” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 147 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2401/2558
สายไฟฟ้ามิใช่ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของอาคารโรงงานอันเป็นสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ซึ่งจำเลยจำนองแก่ผู้ร้องและที่ผู้ร้องยึดไว้ในคดีที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย ก่อนที่โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดในคดีนี้ ทั้งไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป สายไฟฟ้าพิพาทจึงไม่เป็นส่วนควบของโรงงานของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 ทั้งมิใช่เป็นของใช้ประจำอยู่กับโรงงานดังกล่าวที่เป็นทรัพย์ประธานเป็นอาจิณเพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน จึงไม่ต้องด้วยลักษณะเป็นอุปกรณ์ของโรงงานนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 147 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำยึดสายไฟฟ้าพิพาทในคดีนี้ จึงไม่เป็นการยึดซ้ำอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290
ถังน้ำพิพาทเป็นชุดเตรียมสารเคมีซึ่งเป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งของเครื่องจักรที่จำเลยจำนองแก่ผู้ร้อง การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดอย่างไม่มีภาระจำนองนั้น จำนองเป็นทรัพยสิทธิซึ่งตกติดไปกับตัวทรัพย์ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดโดยไม่มีภาระจำนองตามคำขอของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ก็ไม่มีผลทำให้สิทธิจำนองที่ผู้ร้องมีอยู่เสื่อมเสียไป สิทธิจำนองของผู้ร้องมีอยู่อย่างไรก็คงมีอยู่อย่างนั้น แม้โจทก์จะมิได้แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบซึ่งการจำนองที่มีอยู่ในทรัพย์สินนั้นก็ไม่ทำให้การยึดเสียไป และชอบที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จำนองจากทรัพย์สินซึ่งจำนอง จะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดโดยอ้างเหตุว่าการยึดไม่ชอบตามคำร้องของผู้ร้องไม่ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 144, ม. 147
ป.วิ.พ. ม. 290


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1932/2550
เบี้ยปรับคือสัญญาที่ลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร แต่ตามหนังสือสัญญากู้เงินมีใจความว่า ผู้กู้ยืมยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือน ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยมีระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ ส่วนระยะเวลาที่เหลือจำเลยทั้งสองยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราใหม่ตามประกาศธนาคารโจทก์ ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้น โดยโจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบล่วงหน้า นอกจากนั้นจำเลยทั้งสองยังได้ทำบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินมีใจความว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้เงินอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี โดยให้ถือบันทึกดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เงินด้วย จากข้อสัญญาดังกล่าวแสดงว่าในระยะเวลา 3 ปีแรก นับแต่วันที่ทำสัญญากู้ โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่ได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่านั้นไม่ได้จนกว่าจะล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญากู้เงินและเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลา 3 ปี โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคารโจทก์ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้น โดยโจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบล่วงหน้า ซึ่งเมื่อพิจารณาบัญชีเงินกู้ จะเห็นว่า เมื่อล่วงพ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปี โจทก์ทำการปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี และ 6 ต่อปี ตามลำดับ โดยมิได้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ถือเป็นข้อปฏิบัติในลักษณะที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยทั้งสอง ดังนั้นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระยะเริ่มแรกก็ดี และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี และ 6 ต่อปี หลังจากล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้เงินก็ดี ล้วนเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อสัญญาทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยทั้งสองตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ และเป็นดอกผลนิตินัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลา โจทก์จึงทำการปรับอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 6 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2547 เป็นต้นมา และแม้ตามหนังสือสัญญากู้เงินระบุว่า หากผู้กู้ผิดนัดยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่าที่กำหนดได้ก็ตาม แต่ดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2547 เป็นต้นมาดังกล่าว โจทก์เรียกจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าอัตราร้อยละ 19 ต่อปี อันเป็นอัตราตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินและบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงิน ถือได้ว่าโจทก์มิได้คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามสัญญากู้เงินแต่อย่างใด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13.5 ต่อปี ดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลจะมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองตามบัญชีเงินกู้ จึงเป็นการถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 147, ม. 148 วรรคสาม, ม. 383 วรรคหนึ่ง


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2545
จำเลยนำวิทยุเครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์ เครื่องเสียงมาสู่รถที่เช่าซื้อก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยมิใช่เพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอยหรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธานคือรถที่เช่าซื้อทรัพย์ดังกล่าวจึงมิใช่อุปกรณ์อันจะตกติดไปกับทรัพย์ประธานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 147 วรรคท้าย
สัญญาเช่าซื้อที่ระบุว่า หากผู้เช่าซื้อนำสิ่งของเข้ามาดัดแปลงต่อเติม ติดหรือตั้งอยู่ในตัวทรัพย์สินที่เช่าซื้อ สิ่งนั้นจะตกเป็นส่วนหนึ่งของตัวทรัพย์สินที่เช่าซื้อและเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทันที มีที่มาจากปัญหาซึ่งมักจะเกิดแก่โจทก์ที่ต้องพิพาทกับผู้เช่าซื้อในกรณีที่ผู้เช่าซื้อนำสิ่งของเข้ามาดัดแปลง ต่อเติม ติดหรือตั้งกับทรัพย์ที่เช่าซื้อและจะเอาสิ่งของนั้นคืน เมื่อต้องคืนทรัพย์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ แต่การรื้อสิ่งของที่ว่านั้นออกไปจะทำให้ทรัพย์ที่เช่าซื้อเสียหายได้ ฉะนั้น ลำพังการที่จำเลยนำทรัพย์ดังกล่าวมาสู่ตัวรถที่เช่าซื้อ ย่อมไม่ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความเสียหายหากจะต้องรื้อออกไป จึงไม่อยู่ในขอบแห่งข้อสัญญาดังกล่าว โจทก์ไม่อาจยกมาเป็นเหตุไม่คืนวิทยุ เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียงให้แก่จำเลย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 147, ม. 391, ม. 574
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที