Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 144 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 144 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 144” คืออะไร? 


“มาตรา 144” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 144 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ส่วนควบของทรัพย์ หมายความว่า ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป
              เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น “

 

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติม ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 144” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 144 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2562
ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้าซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (15) นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า "ทรัพยากรธรรมชาติ" หมายความว่า ทรัพย์อันเกิดขึ้นเองหรือมีอยู่ตามธรรมชาติ และคำว่า "สิ่งแวดล้อม" หมายความว่า สิ่งต่าง ๆ ทั้งทางธรรมชาติและทางสังคมที่อยู่รอบ ๆ ตัวมนุษย์... ดังนั้น การใช้ ยึดถือหรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติจึงหมายถึงการกระทำต่อหรือแสวงหาประโยชน์จากสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเองหรือมีอยู่ตามธรรมชาติรอบตัวมนุษย์ และย่อมหมายความรวมถึงทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินด้วย การที่ผู้คัดค้านทั้งสามเข้าไปทำสวนป่าในที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการเข้าไปทำลายระบบนิเวศน์ของทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์ อันถือได้ว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าสภาพเดิมของที่ดินเป็นป่าสาธารณประโยชน์หรือเป็นที่โล่งเตียนอย่างใดก็ตาม และการที่ผู้คัดค้านที่ 1 เข้าไปปลูกต้นสัก ต้นยูคาลิปตัส และต้นสัตบรรณบนเนื้อที่ 624 ไร่ และผู้คัดค้านที่ 2 เข้าไปปลูกต้นสัตบรรณบนเนื้อที่ 15 ไร่ ตามส่วนสัดที่แต่ละคนยึดถือที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์มีมูลค่าสูงและนับว่าเป็นจำนวนเกินกว่าที่จะนำไปใช้สอยเองมาก โดยประสงค์ให้ต้นไม้เจริญเติบโตแล้วตัดฟันขายไม้นั้นต่อไป ลักษณะการกระทำจึงเป็นการค้าขายสินค้าทางการเกษตรอันมีลักษณะเป็นการค้าในความหมายของมาตรา 3 (15) แล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นการใช้ที่ดินพิพาทปลูกไม้ยืนต้นโดยไม่สุจริต การปลูกต้นไม้ลงในที่ดินซึ่งเป็นการกระทำโดยมิชอบนั้น แม้จะมีเจตนาตัดฟันขายเมื่อโตใหญ่ต่อมาก็ตาม ไม้ยืนต้นย่อมตกเป็นส่วนควบของที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และไม้ยืนต้นที่เติบใหญ่และมีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยมาจึงเป็นของแผ่นดินเจ้าของที่ดินตามมาตรา 144 วรรคสอง ผู้คัดค้านทั้งสามไม่อาจอ้างกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของที่จะตัดฟันไม้ยืนต้นนั้นนำออกจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ และเมื่อการกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (15) และผู้คัดค้านทั้งสามไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริง ไม้ยืนต้นนั้นคงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน

ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 144 วรรคสอง, ม. 145 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 3 (15), ม. 51


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2562
แม้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 12 บัญญัติไว้ว่า "กรรมสิทธิ์ในห้องชุดจะแบ่งแยกไม่ได้" แต่มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เจ้าของห้องชุดมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลที่เป็นของตน และมีกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์ส่วนกลาง" และ พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดคำนิยามไว้ในมาตรา 4 "ทรัพย์ส่วนบุคคล" หมายความว่า ห้องชุด และหมายความรวมถึงสิ่งปลูกสร้างหรือที่ดินที่จัดไว้ให้เป็นของเจ้าของห้องชุดแต่ละราย "ห้องชุด" หมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่แยกการถือกรรมสิทธิ์ออกได้เป็นส่วนเฉพาะของแต่ละบุคคล จากบทนิยามดังกล่าวและบทบัญญัติในมาตรา 12, 13 หาได้มีการกล่าวถึงการเป็นส่วนควบของห้องชุดไว้แต่อย่างใด การที่ที่จอดรถซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลจะเป็นส่วนควบของห้องชุดหรือไม่นั้น จึงต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. บรรพ 1 ว่าด้วยทรัพย์ ซึ่งมีบทบัญญัติส่วนควบในมาตรา 144 ว่า "ส่วนควบของทรัพย์หมายความว่า ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้ นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น" เมื่อพิจารณาสภาพของที่จอดรถของห้องชุดที่กำหนดไว้ในหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด ก็ระบุเพียงว่าเป็นรายการทรัพย์ส่วนบุคคลที่อยู่นอกห้องชุด ทั้งที่จอดรถสำหรับห้องชุดก็หาได้อยู่ติดกับห้องชุดไม่ โดยจะเป็นพื้นที่สำหรับจอดรถแยกไว้ต่างหากในบริเวณที่กำหนดให้เป็นที่จอดรถ ประกอบกับที่จอดรถนั้น แม้จะมีความสำคัญสำหรับผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด ซึ่งต้องมีที่จอดรถสำหรับรถยนต์ของตนเอง แต่ที่จอดรถก็หาได้เป็นสิ่งที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีคู่กับห้องชุดทุกห้องไม่ โดยลักษณะของห้องชุดที่ซื้อขายกันทั่วไปนั้น อาจจะมีที่จอดรถรวมอยู่หรือไม่ก็ได้ และอาจจะซื้อที่จอดรถเพิ่มได้สำหรับบางอาคารชุด ดังนั้นที่จอดรถตามสภาพแห่งทรัพย์และจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นจึงไม่เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของห้องชุดสามารถแยกออกจากกันได้ ที่จอดรถจึงเป็นเพียงทรัพย์ส่วนบุคคลของเจ้าของห้องชุด มิใช่ส่วนควบ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 144
พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ม. 4, ม. 12, ม. 13


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2401/2558
สายไฟฟ้ามิใช่ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของอาคารโรงงานอันเป็นสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ซึ่งจำเลยจำนองแก่ผู้ร้องและที่ผู้ร้องยึดไว้ในคดีที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย ก่อนที่โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดในคดีนี้ ทั้งไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป สายไฟฟ้าพิพาทจึงไม่เป็นส่วนควบของโรงงานของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 ทั้งมิใช่เป็นของใช้ประจำอยู่กับโรงงานดังกล่าวที่เป็นทรัพย์ประธานเป็นอาจิณเพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน จึงไม่ต้องด้วยลักษณะเป็นอุปกรณ์ของโรงงานนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 147 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำยึดสายไฟฟ้าพิพาทในคดีนี้ จึงไม่เป็นการยึดซ้ำอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290
ถังน้ำพิพาทเป็นชุดเตรียมสารเคมีซึ่งเป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งของเครื่องจักรที่จำเลยจำนองแก่ผู้ร้อง การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดอย่างไม่มีภาระจำนองนั้น จำนองเป็นทรัพยสิทธิซึ่งตกติดไปกับตัวทรัพย์ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดโดยไม่มีภาระจำนองตามคำขอของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ก็ไม่มีผลทำให้สิทธิจำนองที่ผู้ร้องมีอยู่เสื่อมเสียไป สิทธิจำนองของผู้ร้องมีอยู่อย่างไรก็คงมีอยู่อย่างนั้น แม้โจทก์จะมิได้แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบซึ่งการจำนองที่มีอยู่ในทรัพย์สินนั้นก็ไม่ทำให้การยึดเสียไป และชอบที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จำนองจากทรัพย์สินซึ่งจำนอง จะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดโดยอ้างเหตุว่าการยึดไม่ชอบตามคำร้องของผู้ร้องไม่ได้
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที