“มาตรา 1380 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1380” คืออะไร?
“มาตรา 1380” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1380 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ การโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมเป็นผล แม้ผู้โอนยังยึดถือทรัพย์สินอยู่ ถ้าผู้โอนแสดงเจตนาว่าต่อไปจะยึดถือทรัพย์สินนั้นแทนผู้รับโอน
ถ้าทรัพย์สินนั้นผู้แทนของผู้โอนยึดถืออยู่ การโอนไปซึ่งการครอบครองจะทำโดยผู้โอนสั่งผู้แทนว่า ต่อไปให้ยึดถือทรัพย์สินไว้แทนผู้รับโอนก็ได้ “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1380” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1380 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8486/2553
ที่ดินพิพาทซึ่งบริษัท ซ. ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่ เป็นที่ดินของรัฐที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งไม่เคยมีผู้ใดได้รับสิทธิในที่ดินตามกฎหมายมาก่อนตาม พ.ร.บ.แร่ฯ มาตรา 73 (3) ที่กำหนดมิให้ถือว่าการใช้ที่ดินของผู้ถือประทานบัตรในเขตเหมืองแร่เป็นการได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง คงมีผลให้บริษัท ซ. ไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทยันต่อรัฐได้เท่านั้น แต่สำหรับราษฎรด้วยกัน บริษัท ซ. ย่อมมีสิทธิปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองจากผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายได้จนกว่าจะสละเจตนาครอบครองหรือไม่ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป การครอบครองที่ดินพิพาทจึงสิ้นสุดลง ในระหว่างที่บริษัท ซ. ยังคงยึดถือครอบครองอยู่ จึงอาจโอนไปซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้อื่นได้ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1380 การโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมมีผล แม้ผู้โอนยังยึดถือทรัพย์สินอยู่ ถ้าผู้โอนแสดงเจตนาว่าต่อไปจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้รับโอน การที่บริษัท ซ. ตกลงทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์หลังจากประทานบัตรทำเหมืองแร่สิ้นอายุลง ย่อมถือได้ว่า บริษัท ซ. ได้โอนการครอบครองที่ดินพิพาทโดยสละเจตนาครอบครองให้แก่โจทก์และยึดถือที่ดินพิพาทในฐานะผู้เช่าต่อไป โจทก์จึงได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยการให้บริษัท ซ. ยึดถือครอบครองไว้แทน ต่อมาเมื่อบริษัท ฟ. ซื้อโรงงานแต่งแร่และเข้าครอบครองที่ดินพิพาท บริษัทดังกล่าวก็ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ต่อไป จำเลยเพิ่งเข้าครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากซื้อโรงงานแต่งแร่ต่อมาจากบริษัท ฟ. จำเลยย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ซึ่งยึดถือครอบครองที่ดินอยู่ก่อน
หลังจากจำเลยซื้อโรงงานแต่งแร่จากบริษัท ฟ. แล้ว จำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในระหว่างกำหนดเวลาตามสัญญาเช่าที่ดินที่บริษัท ฟ. ทำไว้กับโจทก์หลังจากนั้นบริษัท ฟ. ยังคงชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ต่อมา การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยจึงเป็นการอาศัยสิทธิของบริษัท ฟ. ถือได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ด้วย จำเลยจะอ้างว่าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นของตนได้ก็แต่โดยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองไปยังโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 แต่ตามคำให้การของจำเลยไม่ได้ให้การว่าได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์แต่อย่างใด จึงไม่มีประเด็นให้วินิจฉัยในเรื่องการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1374, ม. 1375, ม. 1380, ม. 1381
ป.วิ.พ. ม. 55
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2140/2552
โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทจาก อ. โดยมอบให้ อ. ครอบครองแทน แม้ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าซึ่งตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ ป. ที่ดินฯ มาตรา 9 จะโอนที่ดินมือเปล่าให้แก่กันมิได้ก็ตาม แต่ที่ดินมือเปล่านั้นเจ้าของมีสิทธิครอบครอง และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 บัญญัติว่า การโอนไปซึ่งการครอบครองนั้น ย่อมทำได้โดยส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง ซึ่งมาตรา 1380 วรรคหนึ่งก็ได้บัญญัติรับรองด้วยว่าการโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมเป็นผลแม้ผู้โอนยังยึดถือทรัพย์สินอยู่ ถ้าผู้โอนแสดงเจตนาต่อไปว่าจะยึดถือทรัพย์นั้นแทนผู้รับโอน เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาโต้แย้งในประเด็นว่า โจทก์ทั้งสองมิได้มอบหมายให้ อ. ครอบครองแทน โจทก์ทั้งสองจึงได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาจาก อ. โดยการโอนและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 และมาตรา 1380 วรรคหนึ่ง
ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง ที่บัญญัติให้ผู้ครอบครองซึ่งถูกแย่งการครอบครอง ต้องฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองนั้น เป็นบทบัญญัติที่กำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนการครอบครองสำหรับกรณีที่ถูกแย่งการครอบครองเท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการออก พ.ร.ฎ. เพิกถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์และทำแผนที่ท้าย พ.ร.ฎ. เป็นการกระทำตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ จึงหาใช่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งสองจะต้องฟ้องคดีเพื่อเอาคืนการครอบครองภายในกำหนด 1 ปี
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1375 วรรคสอง, ม. 1378, ม. 1380 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ม. 9
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2536
แม้ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 14 บัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองหรืออยู่อาศัยในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ก็เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับระหว่างรัฐกับราษฎร เป็นผลให้ราษฎรที่เข้ายึดถือครอบครองหรืออยู่อาศัยไม่ได้สิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ใช้ยันรัฐได้แต่ในระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งเป็นราษฎรด้วยกันเมื่อจำเลยเป็นผู้ปลูกสร้างห้องแถวพิพาทบนที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยก็มีสิทธิยึดถือและใช้สอยห้องแถวพิพาท กับมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับห้องแถวพิพาทโดยมิชอบ รวมทั้งมีสิทธิที่จะจำหน่ายห้องแถวพิพาทในสถานะเช่นเดียวกับเจ้าของเมื่อโจทก์ได้ซื้อห้องแถวพิพาทจากจำเลย และจำเลยได้ยอม รับสิทธิของโจทก์โดยได้ทำหนังสือสัญญาเช่าห้องแถวพิพาท จากโจทก์ สัญญาเช่าจึงใช้บังคับได้มีผลผูกพันจำเลย เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าและโจทก์ได้บอกเลิก สัญญาเช่าแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย ทั้งสองออกจากห้องแถวพิพาทและเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระ จากจำเลยได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 537, ม. 560, ม. 1367, ม. 1374, ม. 1378, ม. 1380
พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ม. 14