“มาตรา 138 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 138” คืออะไร?
“มาตรา 138” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 138 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ “
ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "ทรัพย์สิน" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 138” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 138 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5435/2564
แม้แผงค้าพิพาทมีการก่อสร้างที่ผิดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กฎกระทรวงฉบับที่ 50 (พ.ศ.2540) และกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยสำนักงานเขตจตุจักรแจ้งการรถไฟแห่งประเทศไทยกับโจทก์ให้ระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตและห้ามใช้อาคารแล้ว ต่อมาสำนักงานเขตจตุจักรมีคำสั่งให้รื้อถอนแผงค้าพิพาท แต่คำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 (1) เพื่อดำเนินการมีคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน ผู้ดำเนินการ ลูกจ้าง หรือบริวารของบุคคลดังกล่าว ระงับการกระทำในกรณีที่มีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งผู้ได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัตินี้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งตามมาตรา 52 ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กรณีมิใช่เป็นเรื่องแผงค้าพิพาทมีการก่อสร้างต่อเติมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 (1) ซึ่งเป็นโมฆะเกิดจากกฎหมาย (ภาวะวิสัย) และมิใช่โมฆะที่เกิดจากการแสดงเจตนา (อัตวิสัย) อันจะเป็นเหตุให้สัญญาเช่าระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เมื่อโจทก์รับโอนสิทธิการเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคาร จ. เพื่อดำเนินการจัดหาประโยชน์ตามสัญญาเช่าฉบับลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ให้เช่า กับบริษัท บ. และเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 การรถไฟแห่งประเทศไทยอนุญาตให้บริษัทดังกล่าวโอนสิทธิการเช่าที่มีกับการรถไฟแห่งประเทศไทยให้แก่โจทก์ ซึ่งสิทธิการเช่าดังกล่าวอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ จึงเป็นทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 138 เมื่อบริษัทดังกล่าวโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์ โดยได้รับความยินยอมจากการรถไฟแห่งประเทศไทย และเป็นการโอนสิทธิในการจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินซึ่งให้เช่า สัญญาเช่าพื้นที่ด้านหน้าอาคาร จ. ระหว่างบริษัท บ. กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจึงไม่ระงับไปเพราะเหตุดังกล่าว และโจทก์ผู้รับโอนสิทธิการเช่าพื้นที่ดังกล่าวจากบริษัท บ. ผู้โอน ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อจำเลยที่ 1 ผู้เช่านั้นด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิการเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคาร จ. ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โจทก์ย่อมอาศัยสิทธิการเช่าพื้นที่ที่รับโอนมาจากบริษัท บ. เป็นฐานที่ตั้งแห่งสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากแผงค้าพิพาทและชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 138, ม. 150
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ม. 40 (1), ม. 52
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3534/2560
แม้ผู้คัดค้านเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย มิให้เป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แต่ผู้ตายทำพินัยกรรมมีข้อความส่วนที่เป็นสาระสำคัญว่า "ข้าพเจ้าขอยกทรัพย์สมบัติ อาคารบ้านเรือน ที่ดิน ที่มีชื่อข้าพเจ้าเป็นเจ้าของให้แก่ พ. และ น. ต่อเมื่อข้าพเจ้าได้สิ้นชีวิตไปแล้ว" ซึ่งคำว่า "ทรัพย์สมบัติ" นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้หมายความไว้ว่า หมายถึง ทรัพย์สินที่อยู่ในครอบครองอันอาจใช้สอยแจกจ่ายได้ คำว่า "ทรัพย์สิน" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 138 หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ตายเป็นเจ้าของโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนระดับชั้นประถม เป็นครูสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษในโรงเรียนที่ตนเองเป็นเจ้าของ ผู้ตายทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ คำว่า "ทรัพย์สมบัติ" เป็นคำธรรมดาที่ปุถุชนทั่วไปพอจะเข้าใจความหมายได้ว่าหมายถึงทรัพย์สิน การทำพินัยกรรม เห็นได้ว่าเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตาย ซึ่งรวมตลอดถึงอาคาร บ้านเรือน ที่ดิน ที่มีชื่อของผู้ตายเป็นเจ้าของให้แก่ผู้ร้องและ น. หากผู้ตายประสงค์จะยกทรัพย์สินให้ผู้คัดค้านหรือทายาทโดยธรรมอื่น ก็คงเขียนการยกทรัพย์สินอื่นนั้นไว้ในพินัยกรรมให้ชัดแจ้งแล้ว เพราะแม้แต่ ส. และ ว. ผู้ตายยังเขียนไว้ในพินัยกรรม ให้ผู้ร้องและ น. อุปการะ ส. และ ว. ตลอดชีวิตด้วย แต่เนื่องจาก ว. ถึงแก่ความตายไปแล้ว ผู้ตายจึงขีดฆ่าชื่อของ ว. ออก ทั้งการทำพินัยกรรมเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สิน พินัยกรรมจะมีผลต่อเมื่อผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายทรัพย์สินที่ว่าจึงหมายถึงทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีอยู่ในวันทำพินัยกรรม เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าแม้อาจจะมีทรัพย์มรดกอื่นของผู้ตายที่ยังไม่พบ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดในพินัยกรรมคือ หากมีชื่อผู้ตายเป็นเจ้าของทางเอกสารให้ตกแก่ผู้ร้องและ น. แต่จากคำเบิกความของผู้ร้องและผู้คัดค้านและข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสำนวนยังไม่มีปรากฏทรัพย์สินอื่นของผู้ตาย ผู้คัดค้านไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่ามีทรัพย์สินเช่นว่านั้นอีก ทรัพย์มรดกที่ปรากฏจึงตกเป็นของผู้ร้องและ น. เท่านั้น การตั้งผู้คัดค้านให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง ย่อมเกิดข้อขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก จึงไม่สมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 138, ม. 1718
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9743/2558
ในขณะที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน นายทะเบียนมีคำสั่งให้จำเลยหยุดรับประกันวินาศภัยและมีประกาศห้ามจำเลยจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งคำสั่งและประกาศดังกล่าวออกโดย พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 มาตรา 52 และจำเลยทราบคำสั่งและประกาศดังกล่าวแล้ว การที่จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่ชำระให้โอนที่ดินแก่โจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาประนีประนอมยอมความย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 138, ม. 150
พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 ม. 52, ม. 54