มาตรา 1368 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1368” คืออะไร?
“มาตรา 1368” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1368 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้ “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1368” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1368 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 700/2549
โจทก์รู้เห็นและลงชื่อเป็นพยานในสัญญาซื้อขายพิพาทระหว่างจำเลยกับ ร. และยอมรับว่า บ. เป็นคนเฝ้าดูแลที่ดินให้จำเลย ดังนั้น โจทก์ย่อมทราบดีว่า ที่ดินพิพาทมีจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยการซื้อมาอย่างถูกต้อง การที่จำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาแล้วให้ บ. ครอบครองแทน ถือได้ว่าจำเลยได้ใช้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา จำเลยย่อมมีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ การที่จำเลยเข้าไปปักป้ายแสดงความเป็นเจ้าของและสร้างรั้วในที่ดินพิพาท จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ซึ่งอ้างว่าซื้อที่ดินพิพาทมาจากบุคคลอื่นในภายหลัง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 420, ม. 1367, ม. 1368
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5710/2544
โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกมิใช่ฟ้องให้จำเลยรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้กระทำไปในฐานะผู้จัดการมรดก จึงเป็นคดีมรดกไม่ใช่คดีจัดการมรดก
เมื่อข้อเท็จจริงยังมีที่ดินมรดกอีก 3 แปลงที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกยังไม่ได้จัดการแบ่งให้ทายาทแสดงว่าการจัดการมรดกยังอยู่ในระหว่างจัดการ เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกจึงเป็นผู้แทนของทายาททั้งปวงโดยนำลักษณะตัวการตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720 การที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างจัดการมรดกถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทตามมาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1368 โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทชอบที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยได้แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 ทั้งนี้ ตามมาตรา 1748
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1368, ม. 1720, ม. 1733, ม. 1745, ม. 1748, ม. 1754
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4343/2542
จำเลย(พวกของสายลับ) ไปซื้อเฮโรอีนของกลางจากผู้ขายแทน สายลับตามที่สายลับร้องขอ โดยจำเลยไม่ได้รับผลประโยชน์จากการนี้ เฮโรอีนของกลางจึงเป็นของสายลับผู้ซื้อที่แท้จริงตั้งแต่แรก มิใช่เป็นของจำเลย การที่จำเลยนำเฮโรอีนของกลางไปเพื่อมอบให้ สายลับจึงเป็นการส่งมอบคืนให้แก่เจ้าของที่แท้จริงมิใช่จำเลยให้เฮโรอีนแก่สายลับ จึงมิใช่จำเลยมีเฮโรอีนไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่าย การที่จำเลยครอบครองเฮโรอีนของกลางไว้แทนผู้อื่นนั้นแม้การครอบครองแทนก็คือการครอบครองลักษณะหนึ่งซึ่งอาจมีผล ต่อทางกฎหมายส่วนแพ่งก็ตามแต่ในส่วนกฎหมายอาญาหาได้มีบทบัญญัติ ก่อให้เกิดผลต่างเป็นข้อจำกัดความรับผิดหรือเป็นข้อยกเว้นโทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 และ 67 ไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.อ. ม. 59
ป.พ.พ. ม. 797, ม. 1367, ม. 1368
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 15, ม. 67