“มาตรา 1316 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1316” คืออะไร?
“มาตรา 1316” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1316 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าเอาสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้ากันจนเป็นส่วนควบหรือแบ่งแยกไม่ได้ไซร้ ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นเจ้าของรวมแห่งทรัพย์ที่รวมเข้ากัน แต่ละคนมีส่วนตามค่าแห่งทรัพย์ของตนในเวลาที่รวมเข้ากับทรัพย์อื่น
ถ้าทรัพย์อันหนึ่งอาจถือได้ว่าเป็นทรัพย์ประธานไซร้ ท่านว่าเจ้าของทรัพย์นั้นเป็นเจ้าของทรัพย์ที่รวมเข้ากันแต่ผู้เดียว แต่ต้องใช้ค่าแห่งทรัพย์อื่น ๆ ให้แก่เจ้าของทรัพย์นั้น ๆ “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1316” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1316 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7712/2547
รถยนต์คันที่โจทก์ได้รับมอบกรรมสิทธิ์มาจากบริษัท บ. หมายเลขทะเบียน 9 ห - 7742 กรุงเทพมหานคร แต่รถยนต์พิพาทมีเพียงหัวเก๋งกับกระบะเท่านั้นที่เป็นของคันหมายเลขทะเบียน 9 ห - 7742 ส่วนคัสซีหรือเลขตัวรถและเครื่องยนต์เป็นของคันหมายเลขทะเบียน บ - 1317 ชัยภูมิ ซึ่งเจ้าของได้ขอจดทะเบียนรถยนต์ประเภทรถยนต์ที่ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์เก่า รถยนต์พิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่เกิดจากการเอาอุปกรณ์หรือสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้ากันจนเป็นส่วนควบหรือแบ่งแยกไม่ได้ และโดยที่หัวเก๋งกับกระบะไม่ใช่ทรัพย์ประธาน รถยนต์พิพาทจึงเป็นรถยนต์คันใหม่ ไม่ใช่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ห - 7742 กรุงเทพมหานคร ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1316 ดังนั้นการที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนโอนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ห - 7742 กรุงเทพมหานคร โดยมิได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปให้จำเลยตรวจสอบ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2531 หมวด 2, 4 และ 6 การโอนรถ ข้อ 35 (1) ซึ่งอธิบดีกรมการขนส่งทางบกอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10, 13, 16 และ 17 แห่ง พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. รถยนต์ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2530 วางระเบียบไว้ และมีผลใช้ในทำนองเดียวกับกฎหมาย จำเลยชอบที่จะปฏิเสธไม่ยอมดำเนินการจดทะเบียนโอนรถยนต์ตามคำขอของโจทก์ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ม. 10, ม. 13, ม. 16, ม. 17
ป.พ.พ. ม. 1316
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2743/2541
จำเลยที่ 1 ทำการปรับปรุงถนนบนที่ดินที่ ส.อุทิศเป็นสาธารณประโยชน์โดยก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และการก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ตลอดแนวเขตเป็นเนื้อที่ประมาณ 15 ตารางวา และจำเลยที่ 3 ได้ปักเสาพาดสายไฟฟ้ารุกล้ำที่ดินของโจทก์ตามแนวขอบถนนจำนวน4 ต้น โดยมี ส.เจ้าของที่ดินชี้แนวเขตในการสร้างถนน และโจทก์รู้เห็นการก่อสร้างทั้งโจทก์และ ส.ก็ยังเข้าใจว่าไม่ได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1และที่ 3 จึงมิได้กระทำโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่อ ไม่เป็นการละเมิด แต่เป็นการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้รื้อถอนถนนและเสาไฟฟ้ากับเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้
โจทก์ตั้งหัวเรื่องในคำฟ้องว่า ละเมิด เรียกค่าเสียหาย แต่ใจความในคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องว่า หากการรื้อถอนถนนและเสาไฟฟ้าไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ให้จำเลยร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าที่ดินให้แก่โจทก์คำฟ้องของโจทก์จึงมีความหมายรวมทั้งการปลูกสร้างรุกล้ำอันเป็นการละเมิดตามป.พ.พ.มาตรา 420 และในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1336 ด้วยศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้ค่าที่ดินแก่โจทก์ได้
สิ่งที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ปลูกสร้างในที่ดินของโจทก์มิใช่โรงเรือน แต่เป็นถนนและเสาไฟฟ้าอันเป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันแม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริต กรณีก็ไม่อาจนำมาตรา 1312 ตาม ป.พ.พ.มาใช้บังคับได้ เมื่อเป็นกรณีไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติไว้โดยตรง จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งคือ ป.พ.พ.มาตรา1314 ซึ่งกำหนดให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 1310 บังคับตลอดถึงการก่อสร้างใด ๆซึ่งติดที่ดินด้วย และเมื่อสิ่งปลูกสร้างคดีนี้เป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันซึ่งโจทก์ไม่อาจเป็นเจ้าของได้ โจทก์จึงคงมีสิทธิเพียงเรียกให้จำเลยที่ 1 และที่ 3ซื้อที่ดินนั้นตามราคาตลาดตาม ป.พ.พ.มาตรา 1310 วรรคสอง
โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1336 ย่อมไม่มีกำหนดอายุความ เว้นแต่ผู้ที่ยึดถือจะได้กรรมสิทธิ์โดยครอบครองปรปักษ์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 4, ม. 420, ม. 438, ม. 1310, ม. 1312, ม. 1314, ม. 1316
ป.วิ.พ. ม. 142
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5784/2539
ข้อกำหนดที่ให้จำเลยชดใช้ค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ที่เช่าซื้อตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อก็คือราคารถยนต์ที่ยึดคืนมาขายได้น้อยกว่าราคาที่เช่าซื้อที่จำเลยต้องรับผิดนั่นเองข้อสัญญาดังกล่าวจึงเป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับซึ่งศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ถ้าเห็นว่าสูงเกินส่วน ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาไม่ใช่ค่าเช่าซื้อหรือเงินอื่นใดที่ค้างชำระดังที่สัญญาเช่าซื้อระบุไว้ให้เรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ1.75ต่อเดือนหากแต่เป็นหนี้เงินซึ่งโจทก์สามารถเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ7.5ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา224วรรคหนึ่งเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์เป็นผู้นำกระบะบรรทุกมาติดตั้งประกอบเข้ากับรถยนต์ที่เช่าซื้อกระบะบรรทุกดังกล่าวจึงเป็นส่วนควบของรถยนต์ที่เช่าซื้อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์อันถือได้ว่าเป็นเจ้าทรัพย์เป็นประธานย่อมเป็นเจ้าของกระบะบรรทุกที่ติดตั้งประกอบเข้ากับรถยนต์ที่เช่าซื้อแต่ผู้เดียวแต่ต้องใช้ค่ากระบะรถบรรทุกนั้นให้แก่จำเลยที่1ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1316วรรคสอง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 144, ม. 224, ม. 383, ม. 572, ม. 1316