“มาตรา 1308 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1308” คืออะไร?
“มาตรา 1308” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1308 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1308” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1308 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9214/2558
ในขณะที่ ข. นำรังวัดที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เพื่อออกโฉนดที่ดินเลขที่ 1837 เมื่อปี 2508 นั้น ข. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในขณะนั้นได้ตกลงยินยอมให้นายอำเภอบางละมุงกันที่ดินส่วนสุดเขตทางด้านทิศตะวันตกที่ระบุว่าจดทะเลไปจนถึงทะเลในระยะ 15 เมตร ไว้เป็นที่ชายทะเลสาธารณประโยชน์ ซึ่งถือได้ว่า ข. ได้ยกหรืออุทิศที่ดินส่วนนั้นให้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว แม้จะมิได้มีการทำหลักฐานกันไว้เป็นหนังสือหรือจดทะเบียนโอนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว เมื่อที่ดินที่กันไว้เป็นที่สาธารณประโยชน์เกิดที่งอกริมตลิ่งขึ้น ที่ดินที่งอกขึ้นนั้นย่อมเป็นทรัพย์สินของที่สาธารณประโยชน์แปลงนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1308 หาใช่เป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ของโจทก์ไม่
จำเลยให้การตั้งประเด็นต่อสู้คำฟ้องโจทก์ว่า ตามหลักฐานที่ปรากฏในรูปแผนที่โฉนดที่ดินเลขที่ 1837 ระบุว่า ด้านทิศตะวันตกของที่ดินจดชายทะเล ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า "ที่ชายทะเล" หมายถึง "เขตระหว่างแนวน้ำทะเลต่ำสุดกับแนวน้ำทะเลขึ้นสูงสุด" ซึ่งแสดงว่า แต่เดิมที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกที่เกิดที่งอกนั้นติดชายทะเลที่น้ำท่วมถึง ที่ดินที่น้ำขึ้นลงดังกล่าว (ชายหาด) ย่อมเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทประชาชนใช้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวมิได้อยู่ติดกับทะเล แต่มีชายทะเล (ชายหาด) กั้นอยู่ระหว่างที่ดินของโจทก์กับพื้นน้ำทะเล ที่ดินที่งอกขึ้นจากชายทะเลดังกล่าว จึงเป็นที่ดินที่งอกขึ้นจากที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่งอกดังกล่าวจึงยังคงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามพื้นที่ที่ดินที่งอกขึ้นมา ตามคำให้การของจำเลยเช่นว่านี้ ถือได้ว่าจำเลยได้ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ โดยชัดแจ้งแล้วว่าที่งอกริมตลิ่งที่ดินพิพาท มิใช่ที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ของโจทก์ โดยอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าที่งอกริมตลิ่งพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ชายทะเล ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หาใช่เป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ของโจทก์ไม่ ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าที่ชายหาดเป็นที่สาธารณประโยชน์ เนื่องจาก ข. เจ้าของที่ดินเดิมตกลงอุทิศให้แก่อำเภอบางละมุงนั้น เป็นเพียงรายละเอียดที่จำเลยสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาเพื่อสนับสนุนข้อเถียงตามคำให้การจำเลยในประเด็นที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่งอกริมตลิ่งพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่สาธารณประโยชน์นั่นเอง จึงหาใช่เป็นการนำสืบและพิพากษาคดีนอกฟ้องนอกประเด็นอันจักต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1304 (2), ม. 1308
ป.วิ.พ. ม. 142
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10542/2556
ผู้เสียหายเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) บริเวณที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แต่ปรากฏว่าระหว่างที่ดินพิพาทและที่ดินของผู้เสียหายมีถนนสาธารณะกั้นตลอดแนว ทำให้ที่ดินพิพาทไม่ติดกับที่ดินของผู้เสียหายเนื่องจากมีทางสาธารณะคั่น ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่งอกริมตลิ่งไม่ตกเป็นทรัพย์สินของผู้เสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1308 ที่ดินพิพาทจึงเป็นชายตลิ่งอันเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362, 365 ซึ่งมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ที่เอกชนเป็นเจ้าของเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.อ. ม. 362, ม. 365
ป.พ.พ. ม. 1308
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10662/2551
ที่งอกที่เกิดขึ้นจากการที่บุคคลอื่นสร้างเขื่อนหินยื่นลงไปในทะเลทำให้เกิดการสะสมของตะกอนทรายแล้วเกิดที่งอกจากที่ดินของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนหินดังกล่าวย่อมถือได้ว่าที่งอกของที่ดินของโจทก์เป็นที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โจทก์จึงเป็นเจ้าของที่งอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308
จำเลยที่ 1 ให้การในตอนแรกว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่น้ำทะเลท่วมถึง ต่อมามีท่าเทียบเรือของเอกชนก่อสร้างยื่นลงไปในทะเล ที่ดินดังกล่าวจึงยังคงเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ แต่ตอนหลังกลับให้การว่า หากฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว คำให้การของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือเป็นที่ดินของโจทก์ อันเป็นการขัดแย้งกันเองเป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เท่ากับว่าจำเลยที่ 1 มิได้ให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์
จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในส่วนที่ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปด้วย แต่คำขอในส่วนนี้มิใช่เป็นคำขอให้ชำระค่าเสียหายหรือเงินอื่น ๆ บรรดาที่ให้จ่ายมีกำหนดเป็นระยะเวลาในอนาคตตามตาราง 1 (4) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพราะเป็นคำขอที่มีผลต่อเนื่องจากคำขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ให้จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินพิพาท อันเป็นคำขอประธานเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลในอนาคตในชั้นฎีกาอีกส่วนหนึ่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1308
ป.วิ.พ. ม. 150, ม. 177, ตาราง 1