Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-29

มาตรา 129 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 129 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 129” คืออะไร? 


“มาตรา 129” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 129 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “  ในกรณีที่กรรมการของมูลนิธิผู้ใดดำเนินกิจการของมูลนิธิผิดพลาดเสื่อมเสียต่อมูลนิธิ หรือดำเนินกิจการฝ่าฝืนกฎหมายหรือข้อบังคับของมูลนิธิ หรือกลายเป็นผู้มีฐานะหรือความประพฤติไม่เหมาะสมในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ นายทะเบียน พนักงานอัยการ หรือผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดอาจร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งถอดถอนกรรมการของมูลนิธิผู้นั้นได้
              ในกรณีที่การกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำของคณะกรรมการของมูลนิธิหรือปรากฏว่าคณะกรรมการของมูลนิธิไม่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิโดยไม่มีเหตุอันสมควร นายทะเบียน พนักงานอัยการ หรือผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดอาจร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งถอดถอนกรรมการของมูลนิธิทั้งคณะได้
              ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งถอดถอนกรรมการของมูลนิธิหรือคณะกรรมการของมูลนิธิตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ศาลจะแต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นกรรมการของมูลนิธิ หรือคณะกรรมการของมูลนิธิแทนกรรมการของมูลนิธิ หรือคณะกรรมการของมูลนิธิที่ศาลถอดถอนก็ได้ เมื่อศาลมีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลใดเป็นกรรมการของมูลนิธิแล้ว ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนไปตามนั้น“

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 129” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 129 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2407/2560
คดีที่จำเลยขอให้ถอดถอนโจทก์จากตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 129 เป็นเรื่องกล่าวหาการกระทำของโจทก์ขณะปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการมูลนิธิเป็นหลัก เมื่อได้ความว่าข้อความที่จำเลยเบิกความในคดีนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนโจทก์ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิ การที่จำเลยเบิกความจึงเป็นเพียงให้พฤติการณ์ของโจทก์ตามที่จำเลยกล่าวหาในขณะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิมีน้ำหนักน่าเชื่อถือเท่านั้น ลำพังพฤติการณ์ของโจทก์ตามที่จำเลยเบิกความยังไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังเป็นเหตุถอดถอนโจทก์ได้ ข้อความที่จำเลยเบิกความจึงไม่ใช่ข้อสำคัญในคดีที่จะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ
เมื่อข้อความที่จำเลยเบิกความไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี จึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยว่าข้อความนั้นเป็นความเท็จหรือไม่อีกต่อไป
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.อ. ม. 177
ป.พ.พ. ม. 129


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3500/2535
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติให้ศาลชั้นต้นที่รับคำฟ้องต้องส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยเฉพาะในการดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาท หาได้มีบทบัญญัติให้ต้องมีการส่งหมายและสำเนาคำร้องขอให้แก่ผู้ใดในการดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทไม่ การที่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้องโดยประกาศคำร้องขอและกำหนดนัดไต่สวนคำร้องในหนังสือพิมพ์รายวันและได้ไต่สวนคำร้องหลังจากครบกำหนดประกาศดังกล่าว 15 วัน โดยไม่ได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำร้องขอของผู้ร้องให้ผู้คัดค้านทั้งห้าก่อนไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว
เมื่อผู้คัดค้านทั้งห้ามิได้ยื่นคำคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นซึ่งไต่สวนและมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิเกริกมังคละพฤกษ์ขึ้นใหม่ตามคำร้องขอของผู้ร้อง และคดีถึงที่สุดแล้ว ผู้คัดค้านทั้งห้าจะมีอำนาจร้องขอเป็นคดีนี้ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลดังกล่าวในคดีก่อนได้ต่อเมื่อมีกฎหมายให้สิทธิผู้คัดค้านทั้งห้าร้องขอต่อศาลได้เช่นนั้น แต่กรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้สิทธิผู้ใดร้องขอต่อศาลเช่นนั้นได้ ผู้คัดค้านทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลที่แต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิเกริกมังคละพฤกษ์ขึ้นใหม่ในคดีนี้ได้ หากคำสั่งศาลดังกล่าวทำให้สิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายของผู้คัดค้านทั้งห้าถูกโต้แย้ง ก็ชอบที่ผู้คัดค้านทั้งห้าจะฟ้องผู้ที่โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของผู้คัดค้านทั้งห้าเป็นคดีอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 91 (เดิม), ม. 129
ป.วิ.พ. ม. 188


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2302/2533
จำเลยให้การต่อสู้ด้วยว่า จำเลยมีอำนาจทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์หรือไม่ และก่อนฟ้องโจทก์ได้บอกกล่าวก่อนหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท จำเลยได้คัดค้านไว้แล้วเมื่อจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มิได้วินิจฉัยให้ ศาลฎีกาจึงกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มขึ้นอีก 2 ข้อ ตามที่จำเลยฎีกาและวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่เพิ่มขึ้นไปเสียทีเดียว โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย จำเลยกับโจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายให้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินกันภายหน้า แม้ขณะทำสัญญาผู้จะขายยังไม่มีกรรมสิทธิ์หรือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่สมบูรณ์ สัญญาก็มีผลใช้บังคับได้ เพราะเมื่อสัญญาถึงกำหนด หากผู้จะขายผิดสัญญาโอนทรัพย์สินให้ผู้จะซื้อไม่ได้ผู้จะซื้อก็สามารถให้ผู้จะขายชดใช้ค่าเสียหายแทนการโอนทรัพย์สินที่จะขายได้ สัญญาจะซื้อขายกำหนดวันไปทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนไว้แน่นอนแล้ว โจทก์ไม่จำต้องบอกกล่าวก่อนฟ้อง การที่ พ.และด. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกที่ดินพิพาทมีชื่ออยู่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้ครอบครองแทนทายาท จำเลยเป็นทายาทของเจ้ามรดกที่ดินพิพาทย่อมตกได้แก่จำเลยเมื่อจำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ได้.
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 129, ม. 456, ม. 1622
ป.วิ.พ. ม. 24, ม. 182
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที