“มาตรา 1271 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1271” คืออะไร?
“มาตรา 1271” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1271 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ เมื่อเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ท่านให้มอบบรรดาสมุดและบัญชี และเอกสารทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทซึ่งได้ชำระบัญชีนั้นไว้แก่นายทะเบียนภายในกำหนดสิบสี่วันดังกล่าวไว้ในมาตราก่อน และให้นายทะเบียนรักษาสมุดและบัญชี และเอกสารเหล่านั้นไว้สิบปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี
สมุดและบัญชีและเอกสารเหล่านี้ ให้เปิดให้แก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียตรวจดูได้โดยไม่เรียกค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งอย่างใด “
1 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1271” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1271 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3199/2545
ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไปกับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทตามมาตรา 1250 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่บริษัท บ. ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลกับภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้อง จำเลยซึ่งเป็นทั้งกรรมการและผู้ชำระบัญชีของบริษัทดังกล่าวมีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทที่ตนเป็นกรรมการตามมาตรา 1168 และในฐานะที่เป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1252 จึงควรจะต้องรู้ว่าบริษัทเป็นหนี้ค่าภาษีอยู่ การที่จำเลยมิได้เก็บรักษาเอกสารไว้ตามมาตรา 1271 อีกทั้งเมื่อจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้วมิได้แจ้งการเลิกกิจการภายใน 15 วัน นับจากวันเลิกประกอบกิจการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 85/15 แต่ไปแจ้งหลังจากนั้น 1 ปีเศษและรีบจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีโดยบริษัทยังมีเงินสดเหลืออยู่อีก 1,538,905.44บาท แต่มิได้กันเงินที่จะชำระหนี้ให้กรมสรรพากรโจทก์โดยกลับแบ่งเงินเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น อันขัดต่อมาตรา 1264 และมาตรา 1269 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลาง ต่อมาศาลฎีกาเห็นว่าคดีในส่วนของจำเลยไม่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลางและพิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางตั้งแต่ชั้นรับคำฟ้องจนถึงชั้นมีคำพิพากษา จึงเป็นกรณีที่ศาลไม่รับคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีใหม่เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาดังกล่าวนั้นถึงที่สุด
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/17, ม. 420, ม. 1250, ม. 1269, ม. 1271
ป.รัษฎากร ม. 85/15