Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1270 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1270 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1270” คืออะไร? 


“มาตรา 1270” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1270 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ เมื่อการชำระบัญชีกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทสำเร็จลง ผู้ชำระบัญชีต้องทำรายงานการชำระบัญชีแสดงว่า การชำระบัญชีนั้นได้ดำเนินไปอย่างใด และได้จัดการทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นไปประการใด แล้วให้เรียกประชุมใหญ่เพื่อเสนอรายงานนั้น และชี้แจงกิจการต่อที่ประชุม
              เมื่อที่ประชุมใหญ่ได้ให้อนุมัติรายงานนั้นแล้ว ผู้ชำระบัญชีต้องนำข้อความที่ได้ประชุมกันนั้นไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันประชุม เมื่อได้จดทะเบียนแล้วดังนี้ให้ถือว่าเป็นที่สุดแห่งการชำระบัญชี “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1270” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1270 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2553
ตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 เอกเทศสัญญาลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัทหมวด 5 การชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด มาตรา 1249 บัญญัติว่า "ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดีแม้จะได้เลิกกันแล้วก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็น เพื่อการชำระบัญชี" กับมาตรา 1250 บัญญัติว่า "หน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้เสร็จไปกับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น" บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวนี้ชี้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ให้นิติบุคคลซึ่งเป็นบุคคลสมมติจะเลิกได้นั้น จะต้องมีการชำระบัญชีเพื่อมีการชำระหนี้เงินให้แก่เจ้าหนี้และแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของนิติบุคคลนั้น แล้วแต่กรณีจึงได้กำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีไว้ชัดแจ้ง เพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้และบังคับให้ผู้ชำระบัญชีต้องปฏิบัติ อันจะส่งผลก่อเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่มีมิติสัมพันธ์กับนิติบุคคลยิ่งไปกว่านั้นรัฐยังได้ตรา พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิฯ ซึ่งมีโทษทางอาญากำกับไว้อีกด้วย โดยมาตรา 32 บัญญัติระวางโทษปรับไม่เกินแปดหมื่นบาทแก่ผู้ชำระบัญชีที่ไม่กระทำการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1253 ซึ่งกำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีจะต้องกระทำ เช่น ต้องส่งคำบอกกล่าวว่านิติบุคคลนั้นได้เลิกกันแล้วเป็นจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายทุกๆ คน บรรดามีชื่อปรากฏในสมุด บัญชีหรือเอกสารของห้างหรอืบริษัทนั้น จึงเห็นได้ว่า สำหรับคดีนี้ผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 คือ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และร่วมเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อโจทก์อีกด้วย โจทก์ได้บรรยายฟ้องระบุจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชี มิได้ส่งคำบอกกล่าวการเลิกบริษัทไปยังโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 แม้ยื่นคำให้การต่อสู้คดี แต่มิได้โต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมรับและข้อเท็จจริงย่อมเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีมิได้ส่งคำบอกกล่าวการเลิกบริษัทไปยังโจทก์ ซึ่งเมื่อการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยจำเลยที่ 2 ผู้ชำระบัญชีจงใจไม่ปฏิบัติ และตามพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลให้เชื่อว่า จำเลยที่ 2 ดำเนินการชำระบัญชีโดยไม่สุจริตมีเจตนาฉ้อฉลต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ ดังนี้ เมื่อการปรับใช้กฎหมายพึงต้องอนุวัตให้ต้องตามเจตนารมณ์ ที่บัญญัติกฎหมายนั้นตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วในเบื้องต้น จึงต้องถือว่าการชำระบัญชียังไม่สำเร็จลงตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1270 วรรคหนึ่ง การที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนการชำระบัญชีไม่ว่าจะโดยสมรู้กับจำเลยที่ 2 หรือเป็นการหลงผิดก็ไม่ถือว่าการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ได้ถึงที่สุดแล้ว แต่ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีตามมาตรา 1249 อายุความสองปีตามมาตรา 1272 จึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ย่อมไม่ขาดอายุความตามบทบัญญัตินี้และโจทก์หาจำต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนเป็นนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/4 ตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยกขึ้นกล่าวอ้างในคำแก้ฎีกาไม่ ทั้งนี้เพราะกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องนายทะเบียนบริษัทมีมูลเหตุอันควรเชื่อว่าบริษัทใดมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้ว บทบัญญัติในมาตรา 1273/1 จึงกำหนดให้นายทะเบียนต้องมีจดหมายไต่ถามไปยังบริษัทนั้น ซึ่งต่างกับเหตุในคดีนี้ ที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายแสดงเจตนาจดทะเบียนเลิกบริษัทเอง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1249, ม. 1250, ม. 1270 วรรคหนึ่ง, ม. 1272, ม. 1273/1, ม. 1273/4


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3302/2553
ผู้ร้องเคยเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท ย. และได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1270 ให้ถือว่าเป็นที่สุดแห่งการชำระบัญชี แต่ก็มิได้หมายความว่าหากได้จดทะเบียนแล้ว หากมีเหตุจำเป็นขัดข้องจากการชำระบัญชีกิจการของบริษัทแต่เดิมแล้วจะมีการชำระบัญชีเพิ่มเติมใหม่อีกไม่ได้ ซึ่งก็ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดห้ามไว้ นอกจากนี้หากกรณีมีมูลเหตุข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำร้องขอของผู้ร้องว่าหลังจากจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ผู้ร้องตรวจสอบพบว่ายังมีที่ดินที่บริษัท ย. ถือกรรมสิทธิ์อยู่อีก 2 แปลง กรณีจะดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว ซึ่งเป็นสินทรัพย์ของบริษัทที่ยังคงหลงเหลืออยู่โดยมิได้มีการชำระบัญชีด้วยวิธีการเช่นใด ในเมื่อบริษัทมิได้ยังคงตั้งอยู่แต่สิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคลไปแล้ว และย่อมกระทบกับสิทธิที่จะได้รับแบ่งคืนทรัพย์สินของผู้ถือหุ้นอีกด้วย ดังนั้น คดีมีเหตุที่ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีและแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท ย. ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1270
ป.วิ.พ. ม. 55


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2547
เช็คพิพาทเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะระบุสั่งจ่ายเงินให้แก่บริษัท ฐ. มิใช่เช็คผู้ถือ ดังนั้นบริษัท ฐ. ซึ่งเป็นผู้ทรง เท่านั้นที่จะทำสัญญาขายลดและสลักหลังโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาขายลดเช็ค เอกสารหมาย จ.3 กระทำขึ้นหลังจากที่บริษัท ฐ. ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1270 วรรคสอง อันถือได้ว่า บริษัท ฐ. ได้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว สัญญาขายลดเช็คดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ทั้งการที่ ธ. และ ส. ลงลายมือชื่อสลักหลังและประทับตราบริษัท ฐ. จำกัด ในเช็คพิพาทให้ แก่โจทก์ ก็เป็นการสลักหลังโอนโดยปราศจากอำนาจ ย่อมเป็นอันใช้ไม่ได้เลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 โจทก์จึงเป็น ผู้ที่ได้รับเช็คพิพาทมาโดยการสลักหลังที่ขาดสาย โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 904, 905 จำเลยทั้งสามในฐานะผู้สั่งจ่ายจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 904, ม. 905, ม. 1008, ม. 1270
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที