Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1259 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1259 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1259” คืออะไร? 


“มาตรา 1259” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1259 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ผู้ชำระบัญชีทั้งหลายย่อมมีอำนาจดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
              (๑) แก้ต่างว่าต่างในนามของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทในอรรถคดีพิพาทอันเป็นแพ่งหรืออาญาทั้งปวง และทำประนีประนอมยอมความ
              (๒) ดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตามแต่จำเป็น เพื่อการชำระสะสางกิจการให้เสร็จไปด้วยดี
              (๓) ขายทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
              (๔) ทำการอย่างอื่น ๆ ตามแต่จำเป็นเพื่อชำระบัญชีให้เสร็จไปด้วยดี “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1259” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1259 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3719/2564
จำเลยที่ 2 เคยเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 จึงต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ค่าภาษีที่ต้องชำระแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชำระสะสางกิจการของจำเลยที่ 1 ให้เสร็จสิ้นไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของจำเลยที่ 1 รวมทั้งถ้าเจ้าหนี้คนใดมิได้ทวงถามให้ใช้หนี้ต้องมีหน้าที่วางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้น ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องชำระหนี้ภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ก่อนหรือวางเงินเท่ากับจำนวนหนี้ค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ตามกฎหมายก่อนที่จะจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี แต่จำเลยที่ 2 มิได้ชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวให้แก่โจทก์และได้แบ่งคืนทรัพย์สินไป ถือว่าจำเลยที่ 2 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายจากการที่ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำละเมิดต่อโจทก์ คงรับผิดไม่เกินกว่าเงินสดคงเหลือที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี จำเลยที่ 1 มีหนี้ภาษีธุรกิจเฉพาะค้างชำระแก่โจทก์เป็นเงินภาษี 1,493,353.17 บาท เบี้ยปรับ 746,676.59 บาท พร้อมเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องและภาษีส่วนท้องถิ่นเพิ่มเติม รวมจำนวนทั้งสิ้น 3,351,084.21 บาท แต่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีปรากฏว่า จำเลยที่ 1 มีเงินสดคงเหลือมากกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดแก่โจทก์ในหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระจำนวน 3,351,084.21 บาท แม้จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 แต่ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยไปพบเจ้าพนักงานและยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินภาษีตามผลการตรวจสอบ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีและเบี้ยปรับเงินเพิ่มแก่โจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้วโดยชอบเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ภาษีอากรและเบี้ยปรับเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์จำนวน 3,351,084.21 บาท ซึ่งไม่เกินวงเงินที่เป็นทรัพย์สินคงเหลือ ณ วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หรืออัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 420, ม. 1250, ม. 1259 (2), ม. 1259 (4), ม. 1264, ม. 1269
ป.รัษฎากร ม. 91/2 (6), ม. 89 (3), ม. 89/1


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5624/2560
เมื่อผู้ขอรับชำระหนี้จำนองโอนขายสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้ร้อง และผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนผู้ขอรับชำระหนี้จำนองซึ่งเป็นเจ้าหนี้เดิมของจำเลยที่ 2 แสดงว่า ผู้ร้องมีความประสงค์ที่จะเข้าสวมสิทธิแทนที่ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองในฐานะเดียวกัน เท่าเทียมกับสิทธิของผู้ขอรับชำระหนี้จำนองเดิมที่ศาลชั้นต้นเคยอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดก่อนเจ้าหนี้รายอื่น โดยผู้ร้องไม่ได้มุ่งหมายที่จะเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ผู้ร้องจึงไม่จำเป็นต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนที่ของผู้ขอรับชำระหนี้จำนองก่อน จึงจะมายื่นคำร้องในคดีนี้ได้ ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 6 และ 7 ประกอบกับ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง
แม้ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองได้โอนสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ร้องหลังจากผู้ขอรับชำระหนี้จำนองถูกปิดกิจการและอยู่ระหว่างชำระบัญชี แต่ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 15 บัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติหมวด 5 ลักษณะ 22 ในบรรพ 3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับกับอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการชำระบัญชีโดยอนุโลม ซึ่งบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่สามารถอนุโลมบังคับใช้กับอำนาจหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีตาม พ.ร.ฎ. นี้ คือ มาตรา 1259 ที่บัญญัติว่า ผู้ชำระบัญชีทั้งหลายย่อมมีอำนาจดังจะกล่าวต่อไปนี้ (3) ขายทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ซึ่งความข้อนี้สอดรับกับ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง ว่า ในการขายสินทรัพย์ประเภทสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ซื้อ ให้บรรดาทรัพย์สิน หลักประกัน สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตกแก่ผู้ซื้อด้วย ดังนั้น การที่ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองโอนขายสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้ร้องในระหว่างดำเนินการชำระบัญชี จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1259
พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ม. 6, ม. 7


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8914/2559
คำฟ้องของโจทก์อาศัยสิทธิความเป็นเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นมาฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการแทนบริษัทซึ่งไม่ยอมฟ้องร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 โดยบทกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่บริษัทยังไม่เลิกและกรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ถ้าบริษัทไม่ยอมฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการ ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ แต่ปรากฏว่าในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ บริษัทถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทขีดชื่อออกจากทะเบียนไปแล้วโดยที่ไม่ปรากฏว่าศาลมีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน จึงต้องถือว่าบริษัทเป็นอันเลิกกันแล้วในขณะฟ้องคดีนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1264 (เดิม) แม้ตามบทกฎหมายดังกล่าวจะกำหนดว่า ความรับผิดของกรรมการ ของผู้จัดการและของผู้ถือหุ้นทุก ๆ คนมีอยู่อย่างไร ก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้นและพึงเรียกบังคับได้เสมือนดั่งว่าบริษัทยังมิได้เลิกก็ตาม แต่ก็ได้ความว่า ในขณะฟ้องคดีนี้มีการตั้งจำเลยทั้งสามเป็นผู้ชำระบัญชีแล้ว และจำเลยทั้งสามก็มีหน้าที่ดำเนินการชำระบัญชีใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป บริษัทจึงอยู่ระหว่างการชำระบัญชีแล้ว ผู้มีอำนาจจัดการกิจการของบริษัทย่อมได้แก่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1259 หากจำเลยทั้งสามในฐานะผู้ชำระบัญชีปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายอย่างไรก็ต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อไม่มีกฎหมายให้อำนาจผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดฟ้องคดีแทนบริษัทในระหว่างชำระบัญชีได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนบริษัท ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1264 (เดิม), ม. 1169, ม. 1259
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที