“มาตรา 1258 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1258” คืออะไร?
“มาตรา 1258” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1258 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ เมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้ชำระบัญชีใหม่ครั้งใด ผู้ชำระบัญชีต้องนำความจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้เปลี่ยนตัวกันนั้น “
2 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1258” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1258 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1281/2501
บริษัทจำกัดที่ฮ่องกงมีมติให้เลิกบริษัทและตั้งผู้ชำระบัญชีเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2495 ส่วนสาขาในประเทศไทยได้จดทะเบียนเลิกกิจการเมื่อ พ.ศ.2496 ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวต้องถือว่า สาขาในประเทศไทยยังคงดำเนินกิจการในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัทจำกัดที่ฮ่องกงนั้นอยู่ ถ้าเป็นเวลาก่อนที่สาขาในประเทศไทยได้ไปจดทะเบียนเลิกกิจการ นายจูกงซี ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากบริษัทที่ฮ่องกงให้เป็นผู้จัดการสาขาในประเทศไทยก่อนบริษัทเลิกและให้ชำระบัญชี ย่อมมีอำนาจโดยสมบูรณ์ที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ในฐานะยังเป็นตัวแทนของบริษัทจำกัดที่ฮ่องกงนั้นอยู่
แต่ถึงแม้ว่าในขณะที่นายจูกงซียื่นคำขอรับชำระหนี้ภายหลังที่สาขาในประเทศไทยได้เลิกกิจการไปแล้ว อันเป็นผลให้การยื่นคำขอรับชำระหนี้ของนายจูกงซีเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจเพราะเหตุที่บริษัทจำกัดที่ฮ่องกงได้เลิกกิจการและตั้งผู้ชำระบัญชีขึ้นแล้วด้วยก็ดี แต่ผู้ชำระบัญชีก็ได้มีหนังสือแต่งตั้งให้นายจูกงซีมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทซ้ำมาอีก เป็นการให้สัตยาบันแก่การที่นายจูกงซียื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ก่อนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลแพ่งจะได้มีคำสั่งในเรื่องนี้ คำขอรับชำระหนี้ของนายจูกงซีย่อมไม่เสียไป
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 91
ป.พ.พ. ม. 797, ม. 802, ม. 823, ม. 828, ม. 1247, ม. 1249, ม. 1258
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1441/2527
คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมบริษัทโจทก์ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯพ.ศ. 2522 โดยกรรมการบางคนเป็นพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย และบางคนเป็นข้าราชการกระทรวงการคลังไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตรา 22(7) ของพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งห้ามมิให้ตั้งหรือยอมให้ข้าราชการซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมบริษัทเงินทุนหรือพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหรือทำหน้าที่กรรมการ ผู้จัดการหรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการหรือที่ปรึกษาของบริษัทเงินทุนนั้นเพราะบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงการห้ามมิให้บริษัทเงินทุนตั้งหรือยินยอมให้บุคคลดังกล่าวทำหน้าที่ในบริษัทของตนเองโดยตรง หาได้เกี่ยวกับกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใช้อำนาจในการควบคุมบริษัท การเพิกถอนใบอนุญาตและการเลิกบริษัทตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 5 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ พ.ศ. 2522 และในหมวด 5 ดังกล่าวก็ไม่มีบทบัญญัติห้ามตั้งบุคคลดังที่ระบุไว้ในมาตรา 22 เป็นกรรมการควบคุมบริษัทที่ถูกควบคุมแต่ประการใด คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงชอบด้วยกฎหมาย
พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 87เป็นบทบัญญัติบังคับให้บริษัทที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ตามมาตรา 80 เลิกประกอบกิจการที่มาตรา 43(6) บัญญัติห้ามไว้ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หาใช่บทบัญญัติที่ให้อำนาจบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าวประกอบกิจการที่ต้องห้ามต่อไปได้อีก 1 ปี ไม่ ฉะนั้น เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ของโจทก์แล้ว อำนาจหรือสิทธิในการประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามย่อมสิ้นสุดไปด้วยโดยอัตโนมัติ
การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งเพิกถอนผู้ชำระบัญชีของบริษัทโจทก์ชุดแรกและแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีชุดที่ 2 สืบแทนผู้ชำระบัญชีคณะเดิมต่อไป แสดงว่าเป็นการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีชุดที่ 2 ให้ปฏิบัติหน้าที่ติดต่อไปในทันทีนั่นเอง แม้จะมีการจดทะเบียนคณะผู้ชำระบัญชีชุดที่ 2ภายหลังการฟ้องคดีนี้ ก็หาทำให้กิจการที่ผู้ชำระบัญชีชุดที่ 2 ปฏิบัติไปแล้วต้องเสียไปไม่ เพราะการจดทะเบียนผู้ชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1254 เป็นเพียงพิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อให้ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนเท่านั้น หาได้มีบทบัญญัติให้ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจหน้าที่ตั้งแต่วันจดทะเบียนเป็นต้นไปไม่ ผู้ชำระบัญชีสองคนซึ่งเป็นผู้ลงชื่อแต่งตั้งทนายให้ฟ้องคดีนี้แม้จะมีคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งเพิกถอนไปพร้อมกับผู้ชำระบัญชีอื่นในชุดแรก แต่ทั้งสองคนก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทโจทก์ในชุดที่ 2 การแต่งทนายให้ฟ้องคดีของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 บังคับให้ทำเป็นหนังสือและมีข้อความในสัญญาเช่าซื้อระบุจำนวนเงินและเวลาที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระค่าเช่าซื้อไว้ชัดแจ้งโดยจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวเกิดจากการแสดงเจตนา ลวงของโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเป็นโมฆะบังคับตามสัญญาไม่ได้ จำเลยที่ 1 จะนำสืบว่ามี ข้อตกลงนอกเหนือไปจากสัญญาว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่โจทก์ กับสืบถึงเจตนาและความประสงค์ของคู่สัญญาที่แตกต่างจากสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวอีกไม่ได้ เพราะเป็นการนำสืบข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความตามสัญญาเช่าซื้อ แม้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะยินยอมก็เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 94(ข)
เมื่อพิเคราะห์ถึงสภาพรถยนต์ที่เช่าซื้อและพฤติการณ์อื่น ๆ แห่งคดีแล้ว ศาลฎีกามีอำนาจกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโดยคำนวณเป็นรายเดือนเพียง 1 ปี
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 572, ม. 1254, ม. 1258
ป.วิ.พ. ม. 94 (ข), ม. 271
พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 ม. 22, ม. 43 (6), ม. 59, ม. 66, ม. 80, ม. 87