Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1252 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1252 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1252” คืออะไร? 


“มาตรา 1252” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1252 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการบริษัทมีอำนาจโดยตำแหน่งเดิมฉันใด เมื่อเป็นผู้ชำระบัญชีก็ยังคงมีอำนาจอยู่ฉันนั้น “


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1252” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1252 ” ในประเทศไทย

 


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10821/2556
เมื่อมีการเลิกบริษัทจำกัดและผู้ชำระบัญชีได้ยื่นขอจดทะเบียนต่อทางการภายใน 14 วัน นับแต่วันเลิกบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1254 แล้ว ย่อมทำให้สภาพความเป็นนิติบุคคลของบริษัทสิ้นสุดลง รวมทั้งกรรมการบริษัทย่อมไม่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทได้อีกต่อไป เว้นแต่กรรมการบริษัทนั้นเป็นผู้ชำระบัญชีด้วย จึงจะมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทต่อไปในฐานะผู้ชำระบัญชี ตามมาตรา 1252 ดังนั้น เมื่อบริษัท ส. เลิกกันและมีการตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระบัญชีโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว อำนาจของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทย่อมหมดไป และอำนาจจัดการแทนบริษัทย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 1 ผู้ชำระบัญชี การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งไม่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทอีกต่อไป ได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่างานก่อสร้างซึ่งบริษัทจะได้รับจากจำเลยที่ 3 ในนามของบริษัทให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 หาได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าบริษัทได้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 3 ให้รับผิดต่อโจทก์ได้

จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ชำระบัญชีของบริษัท มีหน้าที่ตามมาตรา 1250 คือชำระสะสางงานของบริษัทให้เสร็จไปกับจัดการใช้หนี้เงินและจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทเท่านั้น หาได้มีบทบัญญัติใดโดยตรงให้ผู้ชำระบัญชีต้องรับผิดเป็นส่วนตัวในหนี้สินของบริษัทที่ตนเป็นผู้ชำระบัญชีค้างชำระบุคคลภายนอกอยู่ไม่ ประกอบกับเมื่อบริษัท ส. ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะขณะที่ทำสัญญาบริษัทได้จดทะเบียนเลิกบริษัทไปก่อนแล้ว จึงไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลอีกต่อไป สัญญาจึงไม่มีผลผูกพันบริษัท ส. และโจทก์ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีอีกด้วย ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1250, ม. 1252, ม. 1254
ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 246, ม. 247


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3199/2545
จำเลยเป็นทั้งกรรมการและผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำกัด จึงมีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทที่ตนเป็นกรรมการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1168 และในฐานะที่เป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1252 จำเลยจึงควรจะต้องทราบว่าบริษัทเป็นหนี้ค่าภาษีดังกล่าวแก่โจทก์ เนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไม่ถูกต้อง และการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการประเมินเอง หาจำต้องรอให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินมาก่อนไม่ เพียงแต่หากผู้มีหน้าที่ชำระภาษียื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานมีอำนาจออกหมายเรียกมาไต่สวนและแจ้งการประเมินได้ต่อไปเท่านั้น จำเลยจะอ้างว่าโจทก์มิได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบ จึงไม่ทราบว่ามีหนี้ภาษีอากรหาได้ไม่
การชำระบัญชีจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1271ที่ให้มอบบรรดาสมุดบัญชีและเอกสารทั้งหลายของบริษัทซึ่งได้ชำระบัญชีแก่นายทะเบียนเพื่อเก็บรักษาไว้ 10 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี การที่จำเลยมิได้เก็บรักษาเอกสารดังกล่าวโดยอ้างว่าไม่มีผู้เก็บรักษาจึงฟังไม่ขึ้น
เมื่อบริษัทจำกัดจดทะเบียนเลิกบริษัท จำเลยมิได้แจ้งการเลิกกิจการภายใน 15 วัน นับจากวันเลิกประกอบกิจการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 85/15 แต่ไปแจ้งเลิกกิจการภายหลังจากนั้น 1 ปีเศษ และรีบจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีในเวลา 2 เดือนเศษต่อมาโดยบริษัทยังมีเงินสดเหลืออยู่อีกจำนวนหนึ่ง การที่จำเลยมิได้กันเงินที่ชำระหนี้ให้โจทก์แต่กลับแบ่งเงินดังกล่าวเฉลี่ยคืนแก่ผู้ถือหุ้น จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1264,1269 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้โจทก์เสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลาง แต่ศาลฎีกาเห็นว่า คดีในส่วนของจำเลยไม่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางตั้งแต่ชั้นรับฟ้องจนถึงชั้นมีคำพิพากษา จึงเป็นกรณีที่ศาลไม่รับคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล กรณีต้องด้วยมาตรา 193/17 วรรคสอง โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีใหม่เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องเพื่อให้ชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาดังกล่าวถึงที่สุด ปรากฏว่าคดีดังกล่าวถึงที่สุดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 9 เมษายน 2541 ไม่เกิน 60 วันจึงไม่ขาดอายุความ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/17 วรรคสอง, ม. 420, ม. 1168, ม. 1250, ม. 1252, ม. 1264, ม. 1269 และ 1
ป.รัษฎากร ม. 85/15


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8047/2544
อำนาจฟ้องในคดีอาญาเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้หยิบยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
เมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ซึ่งมีคำพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว จึงทำให้บริษัทโจทก์เป็นอันเลิกกันโดยบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1236 (5) และโจทก์ย่อมหมดอำนาจที่จะทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ต่อไปอีก การจัดการรวมทั้งการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ย่อมตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะจัดการแต่ผู้เดียว ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 , 24 ทั้งมาตรา 1247 ก็บัญญัติไว้ว่า การชำระบัญชีบริษัทจำกัดซึ่งล้มละลายนั้น ให้จัดทำไปตามบทกฎหมายล้มละลายที่คงใช้อยู่ตามแต่จะทำได้ ดังนั้นกรรมการบริษัทโจทก์จึงไม่กลับมีอำนาจทำการแทนบริษัทโจทก์ได้อีกโดยอาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 1249 เพราะมาตรา 1251 ก็ระบุเป็นข้อยกเว้นไว้แล้วว่าบริษัทในเมื่อเลิกกันเพราะเหตุอื่นนอกจากล้มละลาย กรรมการของบริษัทย่อมเข้าเป็นผู้ชำระบัญชี คดีนี้บริษัทโจทก์เลิกกันเพราะเหตุล้มละลาย กรรมการบริษัทโจทก์จึงไม่ใช่ผู้ชำระบัญชีและไม่มีอำนาจมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 1252
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.อ. ม. 195 วรรคสอง, ม. 225
ป.พ.พ. ม. 1236 (5), ม. 1247, ม. 1249, ม. 1251, ม. 1252
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 22, ม. 24
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที