Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1250 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1250 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1250” คืออะไร? 


“มาตรา 1250” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1250 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ หน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น “


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1250” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1250 ” ในประเทศไทย

 


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3719/2564
จำเลยที่ 2 เคยเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 จึงต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ค่าภาษีที่ต้องชำระแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชำระสะสางกิจการของจำเลยที่ 1 ให้เสร็จสิ้นไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของจำเลยที่ 1 รวมทั้งถ้าเจ้าหนี้คนใดมิได้ทวงถามให้ใช้หนี้ต้องมีหน้าที่วางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้น ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องชำระหนี้ภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ก่อนหรือวางเงินเท่ากับจำนวนหนี้ค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ตามกฎหมายก่อนที่จะจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี แต่จำเลยที่ 2 มิได้ชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวให้แก่โจทก์และได้แบ่งคืนทรัพย์สินไป ถือว่าจำเลยที่ 2 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายจากการที่ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำละเมิดต่อโจทก์ คงรับผิดไม่เกินกว่าเงินสดคงเหลือที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี จำเลยที่ 1 มีหนี้ภาษีธุรกิจเฉพาะค้างชำระแก่โจทก์เป็นเงินภาษี 1,493,353.17 บาท เบี้ยปรับ 746,676.59 บาท พร้อมเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องและภาษีส่วนท้องถิ่นเพิ่มเติม รวมจำนวนทั้งสิ้น 3,351,084.21 บาท แต่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีปรากฏว่า จำเลยที่ 1 มีเงินสดคงเหลือมากกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดแก่โจทก์ในหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระจำนวน 3,351,084.21 บาท แม้จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 แต่ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยไปพบเจ้าพนักงานและยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินภาษีตามผลการตรวจสอบ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีและเบี้ยปรับเงินเพิ่มแก่โจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้วโดยชอบเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ภาษีอากรและเบี้ยปรับเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์จำนวน 3,351,084.21 บาท ซึ่งไม่เกินวงเงินที่เป็นทรัพย์สินคงเหลือ ณ วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หรืออัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 420, ม. 1250, ม. 1259 (2), ม. 1259 (4), ม. 1264, ม. 1269
ป.รัษฎากร ม. 91/2 (6), ม. 89 (3), ม. 89/1


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6043/2561
โจทก์ฟ้องเรียกหนี้สินจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 จึงมีอายุความห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1272 โจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินถึงจำเลยที่ 1 ให้ชำระภาษี เป็นการที่เจ้าหนี้ได้กระทำการอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) จำเลยที่ 1 รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2553 อายุความจึงสะดุดหยุดลงและเริ่มนับใหม่ตั้งแต่พ้น 30 วัน ที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 นำเงินภาษีอากรไปชำระ อายุความจึงเริ่มนับใหม่นับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 และเมื่อโจทก์แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ทราบ ย่อมมีผลต่อการบังคับคดีของโจทก์ตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร เป็นการสั่งบังคับตามอำนาจกฎหมายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภาษีอากรตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ถือได้ว่าเป็นการที่เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกัน กับการฟ้องคดี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) จำเลยที่ 1 รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงนับแต่วันดังกล่าวและเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดนับแต่พ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันดังกล่าว ตามมาตรา 31 วรรคสอง แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 วันที่ 30 กันยายน 2556 คดียังไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการและผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1168 และในฐานะที่เป็นผู้ชำระบัญชีตาม มาตรา 1252 จำเลยที่ 2 จึงควรจะต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรจากการยื่นแบบแสดง รายการเสียภาษีไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าโจทก์มิได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ก่อน จำเลยที่ 2 จึงไม่ทราบว่ามีหนี้ภาษีอากรหาได้ไม่ เนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นการประเมินตนเอง หาจำต้องรอให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินมาก่อนไม่ เพียงแต่หากผู้มีหน้าที่ชำระภาษียื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจออกหมายเรียกมาไต่สวนและแจ้งการประเมินได้ต่อไปเท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ภาษีอากรโจทก์ แต่ไม่นำรายได้ที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 มาลงในงบดุลและไม่จัดการใช้หนี้ให้แก่โจทก์ให้ครบถ้วนตามหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 หรือวางเงินแทนชำระหนี้ตามมาตรา 1254 จำเลยที่ 2 กลับทำงบดุลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2550 (ณ วันเลิก) โดยไม่ถูกต้องแล้วแบ่งกำไรสะสมคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1269 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ในหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระแต่ต้องไม่เกินวงเงินที่เป็นทรัพย์สินคงเหลือ ณ วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี
สำนักสืบสวนและคดีรายงานเรื่องการดำเนินคดีภาษีอากรและการดำเนินคดีละเมิดให้อธิบดีกรมสรรพากรทราบ ตามบันทึกข้อความลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ซึ่ง ว. ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรได้ลงนามให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือ จำเลยที่ 2 ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 จึงยังไม่พ้น 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน อีกทั้งไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/14 (5), ม. 193/15, ม. 448, ม. 1168, ม. 1250, ม. 1252, ม. 1254, ม. 1269, ม. 1272
ป.รัษฎากร ม. 12, ม. 31 วรรคสอง


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10821/2556
เมื่อมีการเลิกบริษัทจำกัดและผู้ชำระบัญชีได้ยื่นขอจดทะเบียนต่อทางการภายใน 14 วัน นับแต่วันเลิกบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1254 แล้ว ย่อมทำให้สภาพความเป็นนิติบุคคลของบริษัทสิ้นสุดลง รวมทั้งกรรมการบริษัทย่อมไม่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทได้อีกต่อไป เว้นแต่กรรมการบริษัทนั้นเป็นผู้ชำระบัญชีด้วย จึงจะมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทต่อไปในฐานะผู้ชำระบัญชี ตามมาตรา 1252 ดังนั้น เมื่อบริษัท ส. เลิกกันและมีการตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระบัญชีโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว อำนาจของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทย่อมหมดไป และอำนาจจัดการแทนบริษัทย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 1 ผู้ชำระบัญชี การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งไม่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทอีกต่อไป ได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่างานก่อสร้างซึ่งบริษัทจะได้รับจากจำเลยที่ 3 ในนามของบริษัทให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 หาได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าบริษัทได้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 3 ให้รับผิดต่อโจทก์ได้
จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ชำระบัญชีของบริษัท มีหน้าที่ตามมาตรา 1250 คือชำระสะสางงานของบริษัทให้เสร็จไปกับจัดการใช้หนี้เงินและจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทเท่านั้น หาได้มีบทบัญญัติใดโดยตรงให้ผู้ชำระบัญชีต้องรับผิดเป็นส่วนตัวในหนี้สินของบริษัทที่ตนเป็นผู้ชำระบัญชีค้างชำระบุคคลภายนอกอยู่ไม่ ประกอบกับเมื่อบริษัท ส. ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะขณะที่ทำสัญญาบริษัทได้จดทะเบียนเลิกบริษัทไปก่อนแล้ว จึงไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลอีกต่อไป สัญญาจึงไม่มีผลผูกพันบริษัท ส. และโจทก์ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชีอีกด้วย ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1250, ม. 1252, ม. 1254
ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 246, ม. 247
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที