Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1243 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1243 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1243” คืออะไร? 


“มาตรา 1243” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1243 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ บริษัทที่ควบรวมนี้ย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบ บรรดามีอยู่แก่บริษัทเดิมอันได้มาควบรวมนั้นทั้งสิ้น “


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1243” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1243 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7055/2560
การตั้งบริษัทจำกัดเกิดขึ้นโดยอาศัย ป.พ.พ. บรรพ 3 หมวด 4 ผลการควบบริษัทจำกัดเข้ากันจึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. เช่นเดียวกัน ซึ่งมาตรา 1243 บัญญัติว่า บริษัทใหม่นี้ย่อมได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดบรรดามีอยู่แก่บริษัทเดิมอันได้มาควบเข้ากันนั้นทั้งสิ้น การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ผู้เป็นนายจ้างและลูกจ้าง จึงต้องนำ ป.พ.พ. มาใช้บังคับด้วย จะใช้บังคับเพียง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 และประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบ ฉบับลงวันที่ 12 กันยายน 2537 และฉบับที่ 2 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติการจัดตั้งบริษัทจำกัดและการควบบริษัทจำกัดเข้ากันหาได้ไม่ และการที่ไม่นำ ป.พ.พ. มาใช้บังคับจะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่โจทก์โดยไม่เป็นธรรม และเนื่องจากโจทก์เกิดจากการควบบริษัทจำกัดเข้ากันโดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงประเภทกิจการและจำเลยทั้งสองยังคงกำหนดรหัสประเภทกิจการของโจทก์ตามรหัสเดิมก่อนการควบเข้ากัน ทั้งไม่ปรากฏว่าการควบบริษัทและการเพิ่มจำนวนลูกจ้างกรณีนี้ทำให้มีความเสี่ยงภัยสูงขึ้น หรือโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมาย โจทก์จึงสามารถนำระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบของบริษัทเดิมก่อนการควบรวมบริษัทมาคำนวณระยะเวลาต่อเนื่องได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1243
พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ม. 45
ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบ ลงวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2537

 


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13962/2558
บทบัญญัติใน พ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 45 ให้ความสำคัญเรื่องการเรียกเก็บเงินสมทบโดยคำนึงถึงตัวนายจ้างเป็นหลัก หากข้อเท็จจริงจากตัวนายจ้างเปลี่ยนแปลงไปย่อมทำให้การประเมินเพื่อเรียกเก็บเงินสมทบจากนายจ้างเปลี่ยนแปลงไปด้วย เมื่อโจทก์เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการของบริษัทในเครือเดียวกันเข้าด้วยกันและก่อนควบรวมกิจการบริษัททั้ง 7 แห่ง ต่างก็มีฐานะเป็นนายจ้างแยกจากกันซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้แยกประเมินเพื่อเรียกเก็บเงินสมทบแยกกันไปตามรายกิจการ เมื่อบริษัททั้ง 7 แห่ง มาควบรวมกิจการกันเป็นบริษัทใหม่ย่อมทำให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวนายจ้างของแต่ละบริษัทเปลี่ยนแปลงไป ต้องถือว่าบริษัทโจทก์ที่จดทะเบียนก่อตั้งขึ้นใหม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลใหม่และเป็นนายจ้างใหม่ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ใหม่ด้วย เมื่อโจทก์ขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทนใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนในอัตราเงินสมทบร้อยละ 0.40 ของค่าจ้าง การที่โจทก์จะขอนำระยะเวลาในการจ่ายเงินสมทบของบริษัทในเครือมารวมคำนวณเพื่อขอลดอัตราดังกล่าวเพื่อชำระเงินสมทบน้อยลงย่อมไม่ชอบ ทั้งการควบรวมบริษัทในเครือเข้าด้วยกันก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของโจทก์ในการดำเนินธุรกิจ มิใช่เพื่อประโยชน์ของลูกจ้างโดยตรง และวิธีการในการประเมินเงินสมทบได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วใน พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 โจทก์จะยกอ้างเอาสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1243 ซึ่งเป็นหลักทั่วไปมาปรับใช้แก่กรณีของโจทก์หาได้ไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1243


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7242 - 7254/2545
บริษัทจำเลยที่ 1 จดทะเบียนควบรวมกิจการเข้ากับธนาคาร ซ. แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารจำเลยที่ 2 มิใช่เป็นการเลิกกิจการเพียงแต่จำเลยที่ 1 ต้องสิ้นสภาพไป และเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ต้องรับโอนไปทั้งสิทธิหน้าที่ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1243 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังต้องรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ทุกประการอันเกี่ยวกับลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 13 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 วรรคแรก ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ในทันทีโดยอัตโนมัติแม้จะไม่ได้แสดงเจตจำนงว่าประสงค์จะโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เว้นแต่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 รายที่ได้แสดงความประสงค์อย่างชัดแจ้งว่าไม่ยินยอมโอนไป ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวเนื่องจากสภาพนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ได้หมดสิ้นไปเป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่สามารถทำงานต่อไปได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง
โจทก์ไม่ได้แสดงเจตนาต่อจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ไม่ประสงค์ที่จะโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าโจทก์ได้โอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ประกาศกำหนดเงื่อนไขให้ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยที่ 2 ต้องแสดงเจตจำนงตอบรับการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มิฉะนั้นจะถูกเลิกจ้างนั้น เป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ขัดแย้งต่อบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลบังคับ
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้โอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ได้สิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจจะก่อนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างอีก
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 150, ม. 575, ม. 1243
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 13, ม. 118
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที