Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1237 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1237 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1237” คืออะไร? 


“มาตรา 1237” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1237 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ นอกจากนี้ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดด้วยเหตุต่อไปนี้ คือ
              (๑) ถ้าทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท
              (๒) ถ้าบริษัทไม่เริ่มทำการภายในปีหนึ่งนับแต่วันจดทะเบียน หรือหยุดทำการถึงปีหนึ่งเต็ม
              (๓) ถ้าการค้าของบริษัททำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว และไม่มีทางหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้
              (๔)๑ ถ้าจำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือเพียงคนเดียว
              (๕)๒ เมื่อมีเหตุอื่นใดทำให้บริษัทนั้นไม่สามารถที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้
              แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท ศาลจะสั่งให้ยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือให้มีการประชุมตั้งบริษัทแทนสั่งให้เลิกบริษัทก็ได้ แล้วแต่จะเห็นควร “

อ่านคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "บริษัท" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1237” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1237 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 767/2565
พฤติการณ์ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างมีเจตนายุติความเป็นผู้ถือหุ้นของโจทก์ที่มีอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 3 คงเหลือจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยที่ 3 เพียง 2 คน เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทจำเลยที่ 3 ต่างมีความขัดแย้งกันจนผู้ถือหุ้นคนหนึ่งต้องการออกจากการเป็นผู้ถือหุ้นเป็นผลให้จำนวนผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 3 ลดลงต่ำกว่าจำนวนผู้ถือหุ้นสามคนที่จะตั้งบริษัทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1097 ความขัดแย้งดังกล่าวย่อมทำให้บริษัทจำเลยที่ 3 ไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไป และเป็นปฏิปักษ์ต่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น กรณีถือว่ามีเหตุที่ศาลจะสั่งเลิกบริษัทจำเลยที่ 3 เพราะจำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือไม่ถึงสามคน ตามมาตรา 1237 (4) แม้ฟ้องโจทก์จะมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกบริษัทจำเลยที่ 3 แต่โจทก์ฟ้องขอคืนเงินลงทุนและทรัพย์สินของบริษัทจำเลยที่ 3 ส่วนที่เป็นของโจทก์ซึ่งจะสามารถบังคับชําระได้เมื่อเลิกบริษัทและทำการชําระบัญชี เห็นความประสงค์ของโจทก์ได้ว่าต้องการให้ศาลสั่งเลิกบริษัทจำเลยที่ 3 เพื่อขอแบ่งทุนและทรัพย์สินคงเหลือและเมื่อกรณีต้องด้วยเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 3 จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 3 ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1097, ม. 1237 (4)


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3280/2564
เมื่อได้ความว่าบริษัทยังคงประกอบกิจการอยู่ ลำพังเพียงเรื่องไม่นำส่งงบการเงินหรือการจัดทำงบการเงินไม่แล้วเสร็จ จึงไม่ส่งผลกระทบถึงขนาดทำให้บริษัทเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ ส่วนข้อที่อ้างว่าผู้คัดค้านทุจริตยักยอกทรัพย์ของบริษัทนั้น ก็เป็นเรื่องที่สามารถใช้กระบวนการทางศาลพิสูจน์ความผิดกันได้ต่อไป ทั้งหากผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 ก็ให้สิทธิผู้ร้องในฐานะผู้ถือหุ้นจะเอาคดีขึ้นว่ากล่าวแก่ผู้คัดค้านได้ ดังนั้นลำพังเพียงแต่ความขัดแย้งของผู้ถือหุ้นกับกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทในกรณีนี้ย่อมไม่อาจส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการของบริษัทจนถึงขนาดจะเป็นเหตุทำให้บริษัทเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเพียง 60,000 หุ้น จากจำนวนหุ้นบริษัททั้งหมด 300,000 หุ้น ไม่อาจชี้นำการประกอบธุรกิจของบริษัทได้ หากให้มีการเลิกบริษัทด้วยเหตุตามคำร้องของผู้ร้องย่อมไม่เป็นธรรมและส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ถือหุ้นรายอื่น พนักงานตลอดจนลูกจ้าง กรณียังถือไม่ได้ว่ามีเหตุอื่นใดทำให้บริษัทนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1237 (5) จึงไม่มีเหตุให้เลิกบริษัท
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1169, ม. 1237 (5)


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3191 - 3192/2564
บริษัทจำกัดถูกจัดการโดยกรรมการของบริษัท มีผู้ถือหุ้นของบริษัทครอบงำการจัดการ ส่วนเจ้าหนี้ของบริษัทจะใช้สิทธิเรียกร้องได้เฉพาะกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่กรณีการเลิกบริษัทจำกัดหากมีเหตุให้เลิกบริษัทจำกัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1236 หรือมาตรา 1237 ไม่มีบทมาตราใดในหมวด 4 บริษัทจำกัด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เลิกบริษัทได้ คงมีแต่กรณีที่ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลเนื่องจากบริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนให้กลับคืนสู่ทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/4 แม้ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 26 ถูกผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงให้ลงทุนและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้วก็ตาม แต่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 26 ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่อาจจะยื่นคำร้องขอให้เลิกบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้ ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 26 จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เลิกบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบมาตรา 247 (ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้องคดีนี้) ส่วนผู้ร้องที่ 27 และที่ 28 มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 โดยผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าผู้ร้องที่ 27 และที่ 28 เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ผู้ร้องที่ 27 และที่ 28 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเลิกบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้พยานหลักฐานของผู้ร้องที่ 27 และที่ 28 ฟังได้ว่า บริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ประกอบกิจการไปมีแต่จะขาดทุนอย่างเดียวและหยุดกิจการเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ตามที่ผู้ร้องที่ 27 และที่ 28 กล่าวอ้าง อันเป็นเหตุในการที่ศาลจะสั่งเลิกบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1237 (2) ที่บัญญัติว่า ถ้าบริษัทไม่เริ่มทำการภายในปีหนึ่งนับแต่วันจดทะเบียน หรือหยุดทำการถึงปีหนึ่งเต็ม และ (3) ที่บัญญัติว่า ถ้าการค้าของบริษัททำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว และไม่มีทางหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เลิกบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จึงชอบแล้วส่วนการตั้งผู้ชำระบัญชีนั้น ส่วนหนึ่งที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ต้องหยุดประกอบกิจการเกิดจากความขัดแย้งระหว่างผู้ร้องทั้งยี่สิบแปดกับผู้คัดค้านทั้งสาม หากตั้งกรรมการของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีย่อมจะเกิดปัญหาและอุปสรรคแก่การชำระบัญชี ประกอบกับ ส. หนึ่งในกรรมการผู้มีอำนาจของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ก็ถูกดำเนินคดีอาญาและถูกออกหมายจับ การที่จะตั้งกรรมการของผู้คัดค้านที่ 1 และ ที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีอาจจะเกิดความไม่โปร่งใสและไม่เป็นกลางได้ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นคนกลางในการเข้าบริหารจัดการทรัพย์สินของบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ชอบแล้ว

ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1159, ม. 1164, ม. 1169, ม. 1236, ม. 1237, ม. 1273/4
ป.วิ.พ. ม. 225 วรรคสอง, ม. 247 (เดิม)
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที