Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1236 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1236 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1236” คืออะไร? 


“มาตรา 1236” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1236 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อันบริษัทจำกัดย่อมเลิกกันด้วยเหตุดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
              (๑) ถ้าในข้อบังคับของบริษัทมีกำหนดกรณีอันใดเป็นเหตุที่จะเลิกกัน เมื่อมีกรณีนั้น
              (๒) ถ้าบริษัทได้ตั้งขึ้นไว้เฉพาะกำหนดกาลใด เมื่อสิ้นกำหนดกาลนั้น
              (๓) ถ้าบริษัทได้ตั้งขึ้นเฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแต่อย่างเดียว เมื่อเสร็จการนั้น
              (๔) เมื่อมีมติพิเศษให้เลิก
              (๕) เมื่อบริษัทล้มละลาย “

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "บริษัท" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1236” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1236 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3191 - 3192/2564
บริษัทจำกัดถูกจัดการโดยกรรมการของบริษัท มีผู้ถือหุ้นของบริษัทครอบงำการจัดการ ส่วนเจ้าหนี้ของบริษัทจะใช้สิทธิเรียกร้องได้เฉพาะกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่กรณีการเลิกบริษัทจำกัดหากมีเหตุให้เลิกบริษัทจำกัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1236 หรือมาตรา 1237 ไม่มีบทมาตราใดในหมวด 4 บริษัทจำกัด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เลิกบริษัทได้ คงมีแต่กรณีที่ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลเนื่องจากบริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนให้กลับคืนสู่ทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/4 แม้ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 26 ถูกผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงให้ลงทุนและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้วก็ตาม แต่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 26 ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่อาจจะยื่นคำร้องขอให้เลิกบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้ ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 26 จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เลิกบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบมาตรา 247 (ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้องคดีนี้) ส่วนผู้ร้องที่ 27 และที่ 28 มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 โดยผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าผู้ร้องที่ 27 และที่ 28 เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ผู้ร้องที่ 27 และที่ 28 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเลิกบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้พยานหลักฐานของผู้ร้องที่ 27 และที่ 28 ฟังได้ว่า บริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ประกอบกิจการไปมีแต่จะขาดทุนอย่างเดียวและหยุดกิจการเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ตามที่ผู้ร้องที่ 27 และที่ 28 กล่าวอ้าง อันเป็นเหตุในการที่ศาลจะสั่งเลิกบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1237 (2) ที่บัญญัติว่า ถ้าบริษัทไม่เริ่มทำการภายในปีหนึ่งนับแต่วันจดทะเบียน หรือหยุดทำการถึงปีหนึ่งเต็ม และ (3) ที่บัญญัติว่า ถ้าการค้าของบริษัททำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว และไม่มีทางหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เลิกบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จึงชอบแล้วส่วนการตั้งผู้ชำระบัญชีนั้น ส่วนหนึ่งที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ต้องหยุดประกอบกิจการเกิดจากความขัดแย้งระหว่างผู้ร้องทั้งยี่สิบแปดกับผู้คัดค้านทั้งสาม หากตั้งกรรมการของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีย่อมจะเกิดปัญหาและอุปสรรคแก่การชำระบัญชี ประกอบกับ ส. หนึ่งในกรรมการผู้มีอำนาจของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ก็ถูกดำเนินคดีอาญาและถูกออกหมายจับ การที่จะตั้งกรรมการของผู้คัดค้านที่ 1 และ ที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีอาจจะเกิดความไม่โปร่งใสและไม่เป็นกลางได้ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นคนกลางในการเข้าบริหารจัดการทรัพย์สินของบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ชอบแล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1159, ม. 1164, ม. 1169, ม. 1236, ม. 1237, ม. 1273/4
ป.วิ.พ. ม. 225 วรรคสอง, ม. 247 (เดิม)


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8047/2544
อำนาจฟ้องในคดีอาญาเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้หยิบยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

เมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ซึ่งมีคำพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว จึงทำให้บริษัทโจทก์เป็นอันเลิกกันโดยบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1236 (5) และโจทก์ย่อมหมดอำนาจที่จะทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ต่อไปอีก การจัดการรวมทั้งการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ย่อมตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะจัดการแต่ผู้เดียว ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 , 24 ทั้งมาตรา 1247 ก็บัญญัติไว้ว่า การชำระบัญชีบริษัทจำกัดซึ่งล้มละลายนั้น ให้จัดทำไปตามบทกฎหมายล้มละลายที่คงใช้อยู่ตามแต่จะทำได้ ดังนั้นกรรมการบริษัทโจทก์จึงไม่กลับมีอำนาจทำการแทนบริษัทโจทก์ได้อีกโดยอาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 1249 เพราะมาตรา 1251 ก็ระบุเป็นข้อยกเว้นไว้แล้วว่าบริษัทในเมื่อเลิกกันเพราะเหตุอื่นนอกจากล้มละลาย กรรมการของบริษัทย่อมเข้าเป็นผู้ชำระบัญชี คดีนี้บริษัทโจทก์เลิกกันเพราะเหตุล้มละลาย กรรมการบริษัทโจทก์จึงไม่ใช่ผู้ชำระบัญชีและไม่มีอำนาจมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 1252
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.อ. ม. 195 วรรคสอง, ม. 225
ป.พ.พ. ม. 1236 (5), ม. 1247, ม. 1249, ม. 1251, ม. 1252
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 22, ม. 24


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5561/2541
บริษัท พ. ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทเองซึ่งทำถูกต้องตามขั้นตอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1236 แล้วกรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246(6)ที่บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียขอให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าในทะเบียนตามเดิมได้ เพราะกรณีตามมาตราดังกล่าวเป็นเรื่องการถอนทะเบียนบริษัทร้างดังนั้น จึงไม่อาจสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเพิกถอนการจดทะเบียนเลิกบริษัท พ. ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1236, ม. 1246 (6)
ป.วิ.พ. ม. 55
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที