Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1200 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1200 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1200” คืออะไร? 


“มาตรา 1200” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1200 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ การแจกเงินปันผลนั้น ต้องคิดตามส่วนจำนวนซึ่งผู้ถือหุ้นได้ส่งเงินแล้วในหุ้นหนึ่ง ๆ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในเรื่องหุ้นบุริมสิทธิ “


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1200” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1200 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 988/2559
เงินปันผลเป็นเงินที่จ่ายจากกำไรของบริษัทให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นครั้งเป็นคราวตามส่วนจำนวนหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1200 และมาตรา 1201 เงินปันผลจึงเป็นดอกผลนิตินัยตามมาตรา 148 วรรคสาม
เมื่อโจทก์ยึดหุ้นของบริษัท น. ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้ว การยึดหุ้นย่อมครอบไปถึงเงินปันผลอันเป็นดอกผลนิตินัยแห่งทรัพย์นั้นด้วย โจทก์จึงมีสิทธิอายัดเงินปันผลของหุ้นได้แม้จะพ้นระยะเวลา 10 ปีแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 148 วรรคสาม, ม. 1200, ม. 1201
ป.วิ.พ. ม. 271

 


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10274/2551
คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 58 จึงมีประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยกับพวกหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้แบ่งที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 58 และทรัพย์สินอื่นที่โจทก์และจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา ประเด็นจึงมีว่า โจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 58 กับทรัพย์สินอื่นตามฟ้องและมีสิทธิขอแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวจากจำเลยกึ่งหนึ่งหรือไม่ ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยคดีทั้งสองมิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากถูกแย่งการครอบครองเกิน 1 ปี แต่คดีก็ไม่มีประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 เพราะจำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 58 เป็นของจำเลย จำเลยมิได้แย่งการครอบครองไปจากโจทก์ ซึ่งการแย่งการครอบครองนั้น จำเลยต้องยอมรับก่อนว่าที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 58 เป็นของโจทก์ แต่จำเลยแย่งการครอบครอง การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 58 เป็นของโจทก์และจำเลยร่วมกันโดยเหตุผลว่า ศาลชั้นต้นในคดีก่อนวินิจฉัยแล้วว่า เป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา โจทก์และจำเลยจึงเป็นเจ้าของร่วมกัน ผลของคำพิพากษาคดีก่อนย่อมผูกพันจำเลยมิให้โต้เถียงสิทธิในที่ดินพิพาทอีก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 จำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ว่าไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องอย่างไร กลับฎีกาว่าที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 58 เป็นของจำเลยโดยอ้างพยานและเหตุผลอื่น ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา โจทก์และจำเลยจึงเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่เมื่อกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงมีการจดทะเบียนในรูปบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่าบริษัท ท. จึงมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์และจำเลย นับแต่วันที่มีการจดทะเบียนบริษัท แม้จำเลยจะเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท ก็เป็นเพียงผู้บริหารในนามบริษัทไม่ใช่บริหารเป็นการส่วนตัว ทั้งมีบุคคลอื่นเป็นผู้ถือหุ้นซึ่งมีส่วนแห่งความเป็นเจ้าของในบริษัท ท. ด้วย การที่ไม่ปรากฏว่า มีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น แล้วโจทก์มาฟ้องขอให้จำเลยแบ่งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงของบริษัท ท. จึงเป็นคำขอที่ไม่อาจบังคับได้ โจทก์ชอบที่จะไปฟ้องเรียกเอาส่วนของโจทก์จากหุ้นที่จำเลยถืออยู่ในบริษัท ท. เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยแบ่งผลกำไรจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น กิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นของบริษัท ท. มิใช่ของจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งผลกำไรของบริษัท ท. ทั้งสองกรณีเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 213, ม. 1012, ม. 1015, ม. 1167, ม. 1200, ม. 1269, ม. 1356, ม. 1357, ม. 1363, ม. 1364, ม. 1375
ป.วิ.พ. ม. 55, ม. 142, ม. 145, ม. 148, ม. 246, ม. 249


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3402/2548
การขอรับชำระหนี้ในค่าเสียหายเนื่องจากผู้บริหารแผนไม่ยอมรับทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือ สิทธิตามสัญญาที่สภาวะเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้และบุคคลภายนอกต่างมีสิทธิและหน้าที่ ซึ่งกันและกัน สัญญาที่จะก่อให้เกิดหน้าที่แก่ลูกหนี้ดังกล่าวได้ ข้อสัญญาดังกล่าวจะต้องสมบูรณ์และมีผลบังคับ ตามกฎหมาย
ผู้ร้องได้สนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทลูกหนี้โดยผู้ร้องเข้าไปซื้อหุ้นและเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท สถานะดังกล่าวมีผลเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องมีส่วนในการเป็นเจ้าของลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้น ผู้ร้องจะได้รับประโยชน์จากเงินลงทุนเพียงใด ย่อมเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1200 มาตรา 1201 และ มาตรา 1269 การที่สัญญาผู้ถือหุ้นระหว่างผู้ร้อง ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และลูกหนี้ ข้อ 1 (1)(3) กำหนดว่า "ผู้ถือหุ้น กับบริษัทจะดำเนินการให้กรรมการของบริษัทถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 ของหุ้นในบริษัทในการออกหุ้นแต่ละครั้งและจะไม่ออกหุ้นใหม่ของบริษัทให้แก่บุคคลใดๆ ซึ่งจะมีผลทำให้กรรมการถือหุ้น คิดเป็นร้อยละต่ำกว่าร้อยละที่ระบุไว้ข้างต้นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้นและผู้ร้อง" และข้อ 3 กำหนดว่า "บริษัทและผู้ถือหุ้นจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ลงทุนสำหรับต้นทุนค่าใช้จ่าย ค่าสูญหายและค่าเสียหาย (รวมทั้งค่าธรรมเนียมทางกฎหมายที่สมเหตุสมผล) ที่เกิดขึ้นต่อผู้ลงทุนอันเกี่ยวเนื่องกับการที่บริษัทและผู้ถือหุ้นไม่สามารถปฏิบัติตามข้อผูกพันที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ได้" ข้อสัญญาดังกล่าวในส่วนของลูกหนี้กับผู้ร้องจึงขัดต่อบทบัญญัติของ ป.พ.พ. ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดรูปแบบของบริษัทจำกัด รูปแบบผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทอันเป็นกฎหมายที่กำหนดแบบแผนที่สังคมจะต้องปฏิบัติร่วมกัน มีผลกระทบต่อบุคคลภายนอกถือว่าเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ผู้ร้องจึงมิได้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ซึ่งได้รับความเสียหายตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/41 ทวิ แต่อย่างใด
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 150, ม. 1200, ม. 1201, ม. 1269
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 90/41 ทวิ
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที