Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-29

มาตรา 12 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 12 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 12” คืออะไร? 


“มาตรา 12” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 12 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ในกรณีที่จำนวนเงินหรือปริมาณในเอกสารแสดงไว้ทั้งตัวอักษรและตัวเลข ถ้าตัวอักษรกับตัวเลขไม่ตรงกัน และมิอาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ ให้ถือเอาจำนวนเงินหรือปริมาณที่เป็นตัวอักษรเป็นประมาณ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 12” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 12 ” ในประเทศไทย 


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13730/2557
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้อำนาจธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยส่วนต่างสูงสุดที่จะใช้บวกกับอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรืออัตรา เอ็ม.โอ.อาร์. เป็นอัตราสูงสุดที่จะเรียกจากลูกค้าทั่วไป หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้แตกต่างระหว่างลูกค้ารายย่อยชั้นดีกับลูกค้าทั่วไปด้วยวิธีบวกส่วนต่างเข้ากับอัตราดอกเบี้ยที่จะเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี แต่ทั้งนี้เมื่อรวมอัตราดอกเบี้ยทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่จะเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไป มิใช่ธนาคารพาณิชย์จะกำหนด "ส่วนต่างที่จะใช้บวก" ได้โดยไม่มีหลักเกณฑ์กำกับ
ดอกเบี้ยที่กำหนดในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเขียนเป็นตัวอักษรว่า คิดในอัตราร้อยละ เอ็ม.โอ.อาร์ บวก 1.25 ต่อปี แต่เขียนเป็นตัวเลขอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปี แตกต่างกันเพราะอัตราดอกเบี้ย เอ็ม.โอ.อาร์ ตามประกาศโจทก์ในขณะนั้นเท่ากับอัตราร้อยละ 12 ต่อปี เมื่อคิดตามตัวอักษรจะต้องเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี เมื่อตัวอักษรกับตัวเลขไม่ตรงกันและมิอาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ จึงต้องถือเอาอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เป็นตัวอักษร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 12 และ 13
เมื่อต้องมีการคำนวณหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีกันใหม่โดยใช้ดอกเบี้ยตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนด จึงต้องนำเงินที่จำเลยนำเข้าชำระรวมทั้งสิ้น 7 ครั้งไปหักออกจากหนี้ที่ค้างชำระด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้พิพากษาให้หักเงินดังกล่าวออกไม่ถูกต้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 12, ม. 13


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333/2551
หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะที่ระบุจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระเป็นตัวเลขและตัวอักษรต่างกันเป็นเรื่องของความผิดพลาดในการทำหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ ย่อมไม่สามารถระบุเหตุผลได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด เพราะเจ้าพนักงานเองก็เพิ่งมาทราบภายหลัง ซึ่งหากเจ้าพนักงานประเมินทราบความผิดพลาด เจ้าพนักงานประเมินย่อมต้องแก้ไขความผิดพลาดดังกล่าวก่อนส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่โจทก์ สำหรับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้ให้เหตุผลที่วินิจฉัยไว้แล้วว่า ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะได้ระบุตัวเลขเป็นรายการเงินภาษี เงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่น รวมเป็นเงินภาษีที่ต้องชำระไว้ชัดเจนแล้ว การที่ระบุตัวอักษรคลาดเคลื่อนไปจากรายการที่เป็นตัวเลข หาใช่กรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงตาม ป.พ.พ. มาตรา 12 ไม่ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงเป็นการชอบแล้ว คำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวหาได้ขัดต่อ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 ไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 12
พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ม. 37


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1879/2542
คำฟ้องของโจทก์แสดงให้เห็นที่มาของตัวเลขค่าเสียหาย104,347 บาท ว่าเป็นค่าอะไหล่และค่าซ่อมจำนวนหนึ่ง ค่ายกลากรถจำนวนหนึ่ง และค่าดอกเบี้ยอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเงินสามจำนวน เมื่อรวมกันแล้วจะเป็น 104,347 บาท ดังนี้ การที่มีข้อความในวงเล็บต่อท้าย 104,347 บาท ว่า (หนึ่งหมื่นสี่พันสามร้อยสี่สิบเจ็ดบาทถ้วน) นั้น จึงเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาด กรณีเช่นนี้มิใช่กรณีจำนวนเงิน หรือปริมาณในเอกสารแสดงไว้ทั้งตัวอักษรและตัวเลข ถ้าตัวอักษรกับตัวเลข ไม่ตรงกันและมิอาจหยั่งทราบเจตนา อันแท้จริงได้ ให้ถือเอาจำนวนเงินหรือปริมาณที่เป็นตัวอักษร เป็นประมาณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 12 เพราะฟ้องโจทก์สามารถหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงโดยชัดเจนว่า โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายจำนวน 104,347 บาท ไม่ใช่ "หนึ่งหมื่นสี่พันสามร้อยสี่สิบเจ็ดบาทถ้วน" ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 102,742 บาท พร้อมดอกเบี้ยจึงไม่เกินคำขอ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 12
ป.วิ.พ. ม. 142
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที