“มาตรา 1199 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1199” คืออะไร?
“มาตรา 1199” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1199 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ บุคคลใดประสงค์จะได้สำเนางบดุลฉบับหลังที่สุดจากบริษัทใด ๆ ก็ชอบที่จะซื้อเอาได้โดยราคาไม่เกินฉบับละยี่สิบบาท๑
ให้เป็นหน้าที่ของกรรมการที่จะส่งสำเนางบดุลทุกฉบับไปยังนายทะเบียนไม่ช้ากว่าเดือนหนึ่งนับแต่วันซึ่งงบดุลนั้นได้รับอนุมัติในที่ประชุมใหญ่ “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1199” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1199 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4788/2556
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยทั้งสามไม่จัดทำบัญชีงบดุลและเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติภายในกำหนดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1196, 1197 ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 18, 25 แต่ได้ความว่าโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือเชิญพิจารณารับรองงบดุล - งบการเงินแล้วแจ้งเหตุขัดข้องปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมกรรมการ เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่สามารถจัดทำบัญชีงบดุลและเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติตามที่กฎหมายกำหนดได้ โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้ถือหุ้นจึงมีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดการกระทำความผิด จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีอำนาจฟ้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1196, ม. 1197, ม. 1198, ม. 1199
ป.วิ.อ. ม. 2 (4)
พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 ม. 18, ม. 25
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6365/2541
ที่จำเลยขอเพิ่มเติมประเด็นแห่งคดีว่า "การซื้อขายหุ้นได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยและโจทก์ทั้งสามและมีพยาน 2 คน ลงลายมือชื่อรับรองตามข้อบังคับของบริษัท ท.หรือไม่ และสัญญาซื้อขายหุ้นเป็นโมฆะหรือไม่"นั้น ปัญหาที่จำเลยยกขึ้นอ้างดังกล่าวเป็นวิธีปฏิบัติในการโอนหุ้นตามข้อบังคับของบริษัทซึ่งเป็นรายละเอียดที่คู่ความจะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาเพื่อให้ได้ความตามประเด็นข้อพิพาทที่ว่า จำเลยได้ตกลงขายหุ้นของจำเลยที่ถืออยู่ในบริษัท ท. ให้แก่โจทก์ทั้งสามหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวจึงรวมอยู่ในประเด็นข้อพิพาทแล้ว กรณีย่อมไม่จำต้องกำหนดปัญหานี้เป็นประเด็นข้อพิพาทซ้ำซ้อนขึ้นอีก
จำเลยได้ขายหุ้นของจำเลยที่ถืออยู่ในบริษัท ท.ให้แก่โจทก์และรับเงินค่าหุ้นจากโจทก์แล้ว เมื่อการโอนหุ้นพิพาทเป็นการโอนระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกัน โดยบริษัทยังไม่ได้ออกใบหุ้น จึงไม่อยู่ในบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือและพยานลงลายมือชื่อ 2 คน ตามข้อบังคับของบริษัท และถือว่าการโอนหุ้นสมบูรณ์จำเลยต้องผูกพันตามสัญญา
จำเลยได้อุทธรณ์กล่าวอ้างว่า ศาลชั้นต้นได้นำสัญญาซื้อขายหุ้นเอกสารหมาย ล.10 มากำหนดค่าเสียหายหุ้นละ 88.09 บาท เป็นการมิชอบโดยจำเลยกล่าวอ้างในอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายสูงเกินความเป็นจริงถือได้ว่า จำเลยได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยมิได้กล่าวอ้างในอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายไม่ชอบหรือกำหนดค่าเสียหายเกินกว่าพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการประพฤติผิดสัญญาอย่างไรบ้างจึงไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทในชั้นอุทธรณ์อันพึงวินิจฉัย ย่อมเป็นการไม่ชอบและศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวน
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1199
ป.วิ.พ. ม. 182 ทวิ, ม. 183, ม. 183 ทวิ, ม. 225, ม. 240
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2994/2535
จำเลยกล่าวอ้างว่าการประกาศขายทอดตลาดหุ้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้แจ้งให้ผู้พบเห็นทราบว่าบริษัทผู้ออกหุ้นมีหุ้นอยู่ทั้งหมดเท่าใด มีสินทรัพย์และหนี้สินเท่าใด ผู้ที่ประมูลซื้อคงมีเฉพาะผู้ที่ทราบสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทเท่านั้นการขายทอดตลาดย่อมต้องมีการสมยอมกัน เป็นการไม่ชอบ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องนำสืบให้เห็นดังที่กล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนหุ้นและมูลค่าหุ้นแต่ละหุ้นของบริษัทจำกัดย่อมปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นและหนังสือบริคณห์สนธิที่ได้จดทะเบียนไว้ต่อนายทะเบียน และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะ ทางการเงินของบริษัทจำกัดคือสินทรัพย์และหนี้สิน ย่อมปรากฏอยู่ในบัญชีงบดุลซึ่งได้ส่งไว้ต่อนายทะเบียนเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี เอกสารเหล่านี้บุคคลทั่วไปตลอดจนผู้จะเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดหุ้นสามารถตรวจสอบก่อนที่จะมีการขายทอดตลาดได้อยู่แล้ว แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวในประกาศขายทอดตลาด ก็ไม่เป็นเหตุให้การขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย.
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1099, ม. 1139, ม. 1199
ป.วิ.พ. ม. 85
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 123, ม. 146