Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1175 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1175 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1175” คืออะไร? 


“มาตรา 1175” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1175 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ให้ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน แต่ในกรณีที่บริษัทมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งครั้งหรือในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง ก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวันด้วย หากเป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษให้กระทําการดังกล่าว ก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน
              คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษให้ระบุข้อความที่จะนำเสนอให้ลงมติด้วย “

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "นิติบุคคล" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1175” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1175 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3413/2560
ข้อความในหนังสือบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดให้เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1175 วรรคสอง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวกฎหมายมุ่งประสงค์ให้คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เป็นการแจ้งให้ผู้ถือหุ้นของบริษัททราบล่วงหน้า นอกจากจะแจ้งว่าบริษัทจะจัดให้มีการประชุมใหญ่ในวัน เวลา และสถานที่ใดแล้ว ยังกำหนดให้แจ้งถึงสภาพกิจการที่จะได้ประชุมกัน และหากเป็นการเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษก็ต้องระบุข้อความที่จะให้ลงมติอีกด้วย เพื่อผู้ถือหุ้นจะได้มีโอกาสเตรียมตัวเพื่อสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จะประชุมกันได้อย่างเต็มที่ สำหรับสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากันซึ่งจะต้องระบุไว้ในคำบอกกล่าวนั้น คือเรื่องหรือกิจการที่จะนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาและลงมติ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญหรือกระทบต่อส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้น และไม่จำต้องเป็นเรื่องเฉพาะสภาพการดำเนินธุรกิจที่เกิดขึ้นในขณะนั้น หรือต้องเป็นเรื่องที่ต้องลงมติพิเศษเท่านั้น เมื่อพิจารณาสำเนาหนังสือขอเชิญประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2556 แล้ว เห็นได้ว่า ได้ระบุถึงสภาพแห่งกิจการหรือเรื่องสำคัญที่จะให้ที่ประชุมพิจารณาและลงมติเพียง 3 เรื่อง โดยระบุไว้เป็นวาระที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่มีวาระเรื่องการพิจารณาถอดถอนกรรมการของจำเลยที่ 1 ส่วนวาระที่ 4 ระบุว่าพิจารณาเรื่องอื่น (ถ้ามี) นั้น ไม่เป็นการระบุถึงสภาพกิจการหรือเรื่องสำคัญที่จะให้ที่ประชุมพิจารณาลงมติ ทั้งผู้ถือหุ้นไม่มีโอกาสเตรียมตัวที่จะมาสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นได้เนื่องจากไม่ทราบว่าจะมีการพิจารณาเพื่อลงมติในเรื่องใดบ้าง หรือกล่าวได้ว่าวาระการประชุมเรื่องอื่น ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ ซึ่งในเรื่องการถอดถอนกรรมการบริษัทนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1151 ได้กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่เท่านั้นที่จะถอดถอนได้ แสดงว่าเรื่องการถอดถอนกรรมการบริษัทเป็นเรื่องสำคัญ และเห็นได้ว่าเป็นการกระทบต่อส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้นเนื่องจากเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีอำนาจบริหารกิจการและดูแลผลประโยชน์แทนตน ผู้ถือหุ้นจึงชอบที่จะได้รับทราบโดยการแจ้งถึงเรื่องดังกล่าวล่วงหน้าเพื่อได้เตรียมตัวก่อนเข้าร่วมพิจารณาในที่ประชุม การที่ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นได้พิจารณาและลงมติให้ถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ในวาระที่ 4 เรื่องอื่น ๆ โดยไม่มีวาระเรื่องการถอดถอนโจทก์ดังกล่าวในคำบอกกล่าวเรียกประชุม เป็นการพิจารณาและลงมตินอกวาระหรือเรื่องที่กำหนดไว้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1151, ม. 1175 วรรคสอง


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9127/2559
การที่ที่ประชุมมีมติด้วยเสียงข้างมากอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวาระการประชุมวาระที่ 3 จากเดิมที่ว่า "พิจารณาการแต่งตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระและกำหนดอำนาจกรรมการ" เป็นว่า "พิจารณาแต่งตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระ และแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม และกำหนดอำนาจกรรมการ" ซึ่งวาระการประชุมที่เปลี่ยนแปลงใหม่เหมือนกับวาระการประชุมเดิมเฉพาะในส่วนที่ว่า "พิจารณาแต่งตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระและกำหนดอำนาจกรรมการ" ส่วนวาระที่เปลี่ยนแปลงใหม่ที่ไม่ตรงกับวาระการประชุมวาระที่ 3 เดิม คือ แต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม ซึ่งการประชุมที่เพิ่มเติมเป็นวาระการประชุมที่กำหนดเร่งด่วนกะทันหัน มิได้เป็นวาระที่กำหนดไว้ในสำเนาหนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้น จึงเป็นวาระการประชุมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1175 วรรคสอง ที่ว่า คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่วัน เวลาและสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากัน เมื่อมีการประชุมตามวาระนั้นและมีมติแต่งตั้งกรรมการใหม่ จึงเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ที่เกิดจากการประชุมใหญ่ที่ได้มีการนัดเรียกประชุมฝ่าฝืนบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ข้างต้น และแม้ในสำเนาหนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้นจะกำหนดวาระการประชุมวาระที่ 6 ว่าพิจารณาเรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี) ไว้ด้วยก็ตาม ที่ประชุมใหญ่ก็ไม่อาจอ้างวาระดังกล่าวเพื่อให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาเรื่องแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมได้เนื่องจากวาระการประชุมที่ว่า พิจารณาเรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี) ต้องเป็นเรื่องที่ไม่ใช่สาระสำคัญของการบริหารกิจการบริษัทแต่เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย สัพเพเหระมากกว่าที่สามารถหยิบยกขึ้นพิจารณาได้ทันทีโดยไม่ต้องอาศัยการพิจารณาไตร่ตรองอย่างละเอียดล่วงหน้า แต่เรื่องการแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมเป็นเรื่องสำคัญของบริษัทที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทควรจะได้ใช้เวลาคิดพิจารณาไตร่ตรองอย่างละเอียดรอบคอบก่อนวันประชุม หากที่ประชุมใหญ่ใช้วาระดังกล่าวเพื่อประชุมลงมติเรื่องการแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมก็อาจจะเป็นการจู่โจมผู้ถือหุ้นมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดการเสียหายแก่ผู้ถือหุ้นและบริษัทได้ มติของที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นเฉพาะในส่วนที่แต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมขึ้นมานั้นเป็นมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 แล้ว มติที่ประชุมใหญ่จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1175 วรรคสอง, ม. 1195


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7876/2559
เมื่อบริษัท ช. ได้ส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ทางไปรษณีย์ไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยชอบแล้ว แม้บริษัท ช. จะลงพิมพ์โฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ทางหนังสือพิมพ์ก่อนวันนัดประชุมน้อยกว่า 7 วัน ซึ่งไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1175 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งประสงค์ให้มีการแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าว่าบริษัทจะได้จัดให้มีการประชุมใหญ่ในกิจการใด ที่ใด เมื่อใด เพื่อผู้ถือหุ้นจะได้มีโอกาสเตรียมตัวสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัท ช. ได้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นตามมาตรา 1174 วรรคสอง โดยได้ส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ทางไปรษณีย์แก่ผู้ถือหุ้นโดยชอบ เป็นที่เห็นได้ว่าผู้ถือหุ้นทุกคนทราบกำหนดวันนัดประชุมใหญ่แล้ว และผู้ร้องได้มอบฉันทะให้ตัวแทนผู้ร้องเดินทางไปร่วมประชุมใหญ่ด้วย ต้องตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดให้แจ้งนัดประชุมใหญ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1175 แล้ว ย่อมถือได้ว่า การส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ของบริษัท ช. ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1175 วรรคหนึ่ง
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที