Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1169 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1169 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1169” คืออะไร? 


“มาตรา 1169” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1169 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้ากรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้
              อนึ่ง การเรียกร้องเช่นนี้ เจ้าหนี้ของบริษัทจะเป็นผู้เรียกบังคับก็ได้ เท่าที่เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิเรียกร้องแก่บริษัทอยู่ “

 

ค้นหาได้ทุกเรื่อง : "บทความทางกฎหมาย, คำปรึกษาจริงพร้อมคำตอบจากทนายความ, มาตรากฎหมาย" >> คลิก !


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1169” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1169 ” ในประเทศไทย

 


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1376/2565
การฟ้องคดีของผู้ถือหุ้นมิใช่เป็นการตั้งฐานแห่งสิทธิในการฟ้องในฐานะส่วนตัว แต่เป็นการฟ้องคดีแทนบริษัท ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของตนและผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ การฟ้องคดีแทนบริษัทของผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง จึงถือได้ว่าเป็นการฟ้องคดีแทนผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ ด้วย ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งจึงยังมีอำนาจฟ้อง หรือดำเนินคดี หรือบังคับคดีต่อไปได้ตราบเท่าที่ผู้ถือหุ้นคนนั้นยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอยู่ เพราะหากมิได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแล้ว ย่อมมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องคดีหรือบังคับคดีได้แต่อย่างใด โจทก์ทั้งหกยื่นฟ้องคดีแทนบริษัท ส. ตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง แต่ต่อมาโจทก์ทั้งหกได้ขายหุ้นส่วนของตนในบริษัทออกไปหมดแล้ว โจทก์ทั้งหกย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลหรือใช้สิทธิใด ๆ ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทได้อีก และถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตามคำพิพากษาอีกต่อไป โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีอำนาจบังคับคดี
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1169 วรรคหนึ่ง


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3280/2564
เมื่อได้ความว่าบริษัทยังคงประกอบกิจการอยู่ ลำพังเพียงเรื่องไม่นำส่งงบการเงินหรือการจัดทำงบการเงินไม่แล้วเสร็จ จึงไม่ส่งผลกระทบถึงขนาดทำให้บริษัทเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ ส่วนข้อที่อ้างว่าผู้คัดค้านทุจริตยักยอกทรัพย์ของบริษัทนั้น ก็เป็นเรื่องที่สามารถใช้กระบวนการทางศาลพิสูจน์ความผิดกันได้ต่อไป ทั้งหากผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 ก็ให้สิทธิผู้ร้องในฐานะผู้ถือหุ้นจะเอาคดีขึ้นว่ากล่าวแก่ผู้คัดค้านได้ ดังนั้นลำพังเพียงแต่ความขัดแย้งของผู้ถือหุ้นกับกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทในกรณีนี้ย่อมไม่อาจส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการของบริษัทจนถึงขนาดจะเป็นเหตุทำให้บริษัทเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเพียง 60,000 หุ้น จากจำนวนหุ้นบริษัททั้งหมด 300,000 หุ้น ไม่อาจชี้นำการประกอบธุรกิจของบริษัทได้ หากให้มีการเลิกบริษัทด้วยเหตุตามคำร้องของผู้ร้องย่อมไม่เป็นธรรมและส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ถือหุ้นรายอื่น พนักงานตลอดจนลูกจ้าง กรณียังถือไม่ได้ว่ามีเหตุอื่นใดทำให้บริษัทนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1237 (5) จึงไม่มีเหตุให้เลิกบริษัท
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1169, ม. 1237 (5)


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8455/2563
การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 เป็นการที่ผู้ถือหุ้นฟ้องคดีเพื่อประโยชน์ของบริษัท ส่วนการทำบันทึกข้อตกลงที่ พ. และโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ขายกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ซื้อตกลงกันว่า ตามที่ฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขายทั้งสองมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทเป็นคดีอาญาของศาลแขวงสงขลา ทั้งสองฝ่ายสามารถระงับข้อพิพาทกันได้ โดยจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อตกลงซื้อหุ้นของ พ. และโจทก์ผู้ขายทั้งสองซึ่งมีอยู่ในบริษัทรวม 5,333 หุ้น มูลค่าหุ้นเป็นเงิน 15,000,000 บาท จำเลยที่ 1 จะชำระค่าหุ้นภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 เมื่อมีการโอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 แล้ว พ. และโจทก์จะไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับกิจการของบริษัท และทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจเรียกร้องใด ๆ ต่อกันอีกไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญา กรณีเช่นนี้เป็นข้อตกลงของผู้ถือหุ้น โดย พ. และโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 ซื้อหุ้นจากฝ่ายตน เมื่อ พ. และโจทก์ขายหุ้นในบริษัทแล้ว จำเลยที่ 1 จะได้ใช้สิทธิบริหารบริษัทแต่ผู้เดียว เป็นทำนองให้ผู้ถือหุ้นที่ไม่ประสงค์จะลงทุนในบริษัทซึ่งมีความขัดแย้งด้านการบริหารขายหุ้นและออกไปจากบริษัท ซึ่งหากมีการซื้อขายหุ้นตามที่ตกลงกันแล้ว พ. และโจทก์ก็จะไม่เกี่ยวข้องกับกิจการของบริษัทอีก จึงเป็นข้อตกลงที่ผูกพันกันด้วยฐานะการเป็นผู้ถือหุ้นเป็นส่วนตัว ไม่ได้เป็นการระงับสิทธิเรียกร้องในการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดแก่บริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น จึงหาได้มีผลเป็นการตกลงสละการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกรณีกรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าหุ้นตามข้อตกลง โจทก์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทและโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นกรรมการบริษัท นำสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องของบริษัทไปซื้อหุ้นในส่วนของจำเลยที่ 3 ให้บริษัทถือหุ้นของตนเอง ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย แต่บริษัทไม่ยอมฟ้องคดี โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีแทนบริษัทเพื่อเรียกให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 อันเป็นการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1169
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที