Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1168 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1168 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1168” คืออะไร? 


“มาตรา 1168” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1168 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ในอันที่จะประกอบกิจการของบริษัทนั้น กรรมการต้องใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง
              ว่าโดยเฉพาะ กรรมการต้องรับผิดชอบร่วมกันในประการต่าง ๆ ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
              (๑) การใช้เงินค่าหุ้นนั้น ได้ใช้กันจริง
              (๒) จัดให้มีและรักษาไว้ให้เรียบร้อย ซึ่งบรรดาสมุดบัญชีและเอกสารที่กฎหมายกำหนดไว้
              (๓) การแจกเงินปันผลหรือดอกเบี้ยให้เป็นไปโดยถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้
              (๔) บังคับการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามมติของที่ประชุมใหญ่
              อนึ่ง ท่านห้ามมิให้ผู้เป็นกรรมการประกอบการค้าขายใด ๆ อันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับการค้าขายของบริษัทนั้น ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น หรือไปเข้าหุ้นส่วนไม่จำกัดวามรับผิดในห้างค้าขายอื่นซึ่งประกอบกิจการมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและแข่งขันกับกิจการของบริษัท โดยมิได้รับความยินยอมของที่ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้น
              บทบัญญัติที่กล่าวมาข้างบนนี้ให้ใช้บังคับตลอดถึงบุคคลซึ่งเป็นผู้แทนของกรรมการด้วย “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1168” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1168 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3199/2545
จำเลยเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท บ. หน้าที่สำคัญที่ผู้ชำระบัญชีจะต้องดำเนินการ คือการชำระสะสางการงานของบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1250 การที่บริษัท บ. ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง ทำให้การชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลกับภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้อง จำเลยเป็นทั้งกรรมการและผู้ชำระบัญชีของบริษัท จึงมีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทที่ตนเป็นกรรมการตามมาตรา 1168 และในฐานะเป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1252 จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ไม่ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบก่อน จำเลยจึงไม่ทราบว่ามีหนี้ภาษีอากรหาได้ไม่ อีกทั้งเมื่อบริษัทจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้วจำเลยมิได้แจ้งการเลิกกิจการภายใน 15 วัน นับจากวันเลิกประกอบกิจการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 85/15 แต่ไปแจ้งเลิกกิจการภายหลังจากนั้น 1 ปีเศษ และรีบจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีในเวลา 2 เดือนเศษต่อมาโดยบริษัทยังมีเงินสดเหลืออยู่ แต่จำเลยไม่ได้กันเงินที่จะชำระหนี้ให้โจทก์ กลับแบ่งเงินดังกล่าวเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นจึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1264 และมาตรา 1269 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลาง ต่อมาศาลฎีกาเห็นว่าคดีในส่วนของจำเลยไม่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลางและพิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางตั้งแต่ชั้นรับคำฟ้องจนถึงชั้นมีคำพิพากษา จึงเป็นกรณีที่ศาลไม่รับคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีใหม่เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาดังกล่าวนั้นถึงที่สุด เมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 9 เมษายน 2541 ไม่เกิน 60 วัน คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/17 วรรคสอง, ม. 420, ม. 1168, ม. 1250, ม. 1252, ม. 1264, ม. 1269
ป.รัษฎากร ม. 85/15


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 977/2545
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทและเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งต่าง ๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกคำสั่งให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งในนามบริษัทและต้องรับผิดชอบร่วมกับบริษัทอยู่แล้ว แม้บริษัทดังกล่าวจะแบ่งงานออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ มีผู้รับผิดชอบใน แต่ละฝ่ายก็เป็นเรื่องการแบ่งงานภายในของบริษัทเท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะไม่อยู่ปฏิบัติงานที่บริษัทก็ตาม ก็หาปฏิเสธความรับผิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแก่บริษัทที่ตนเป็นกรรมการผู้รับผิดชอบได้ไม่

ตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 79 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจที่จะเปรียบเทียบได้ มิใช่เป็นบทบังคับให้ คณะกรรมการต้องดำเนินการเปรียบเทียบเพียงอย่างเดียวไม่ เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวใช้ดุลพินิจไม่เปรียบเทียบก็เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จะพึงกระทำได้ ทั้งการที่คณะกรรมการดังกล่าวไม่ยอมเปรียบเทียบก็หาขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 144 ไม่ เพราะการเปรียบเทียบกรณีนี้มิได้อยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการจึงสั่งให้พนักงานสอบสวนพยายามเปรียบเทียบไม่ได้
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก ซึ่งเป็นกรรมการให้รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท ตามบทมาตราต่าง ๆ และมาตรา 75 วรรคหนึ่งและวรรคสองแห่ง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งมาตรา 75 วรรคหนึ่งบัญญัติให้รับผิดมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี ส่วนวรรคสอง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองถึงห้าปี และตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) บัญญัติถึงความผิดที่ต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปีให้มีอายุความสิบปีนับแต่วันกระทำความผิด ดังนี้ เมื่อนับตั้งแต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกระทำผิดกับบริษัทระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2530 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2531 โดยโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2539 ยังไม่ถึงสิบปี ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1168
ป.อ. ม. 95 (3)
พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 ม. 75, ม. 79


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4451/2530
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยทำนองเดียวกันว่า โจทก์รู้เห็นยินยอมให้บริษัทที่โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นและจำเลยเป็นกรรมการทำบัญชี 2 ชุดเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ยอมเสียภาษีอันเป็นการกระทำผิดกฎหมายโจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีนี้ได้ และเหตุที่ไม่ได้แบ่งเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นเนื่องจากต้องนำเงินไปใช้ขยายกิจการของบริษัทผู้ถือหุ้นซึ่งรวมทั้งโจทก์มิได้ขาดประโยชน์อันควรได้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดตามฟ้องเช่นนี้ ถือว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริงโจทก์จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220
จำเลยซึ่งเป็นกรรมการบริษัททำบัญชีเท็จว่าบริษัทขาดทุนเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ชำระภาษีอันเป็นการกระทำผิดกฎหมายโดยโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรู้เห็นยินยอม การทำบัญชีดังกล่าวจึงไม่เป็นการหลอกลวงให้โจทก์ขาดประโยชน์อันควรได้ ไม่เป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ มาตรา 42
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1168, ม. 1206
ป.วิ.อ. ม. 220
พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 ม. 42
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที