Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1141 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1141 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1141” คืออะไร? 


“มาตรา 1141” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1141 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องในข้อกระทงความบรรดาที่กฎหมายบังคับ หรือให้อำนาจให้เอาลงในทะเบียนนั้น “


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1141” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1141 ” ในประเทศไทย

 


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8462/2561
การที่จำเลยเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีอยู่ ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1141 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องในข้อกระทงความบรรดาที่กฎหมายบังคับหรือให้อำนาจให้เอาลงไว้ในทะเบียนเพื่อพิจารณาและลงมติในเรื่องกิจการของบริษัทจึงชอบแล้วในเบื้องต้น โจทก์จะขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นโดยอ้างเพียงเหตุไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุมไม่ได้ เนื่องจากไม่ใช่เป็นมติที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 ส่วนมติในการประชุมผู้ถือหุ้นในครั้งนี้จะซ้ำซ้อนกับมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นในครั้งก่อนหรือไม่อย่างไร ก็ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะต้องถือเอามติครั้งล่าสุดที่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทมาใช้บังคับ เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว คำฟ้องโจทก์ที่อ้างเหตุข้างต้นจึงไม่มีมูล และไม่มีเหตุที่จะนำวิธีคุ้มครองตามคำร้องของโจทก์มาใช้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1141, ม. 1195
ป.วิ.พ. ม. 254


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 593/2549
สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่โจทก์ส่งไว้ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเป็นเอกสารราชการ และนาง ส. กรรมการบริษัทโจทก์ได้ลงชื่อรับรองว่าเป็นรายการที่ถูกต้องตรงกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1141 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้อง เอกสารดังกล่าวระบุว่าจำเลยที่ 1 ถือหุ้นอยู่ในบริษัทโจทก์จำนวน 5,000 หุ้น เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ถือหุ้นแทนบุตรสาวของนาง ส. โดยโจทก์มีเพียงนาง ส. เท่านั้นมานำสืบ จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้
จำเลยที่ 1 ถือหุ้นจำนวน 5,000 หุ้น รองจากนาง ส. ย่อมมีสิทธิได้รับการแบ่งผลกำไรจากการทำธุรกิจร่วมกับโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กับโจทก์มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์กัน โดยจำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์ไม่แบ่งผลประโยชน์ให้ จึงถอดเครื่องอุปกรณ์ของเครื่องจักรในโรงงานและเอาสีต่าง ๆ ไปเก็บไว้เพื่อต่อรองให้โจทก์จ่ายผลประโยชน์ในส่วนที่ตนพึงจะได้รับ เครื่องอุปกรณ์ชิ้นส่วนดังกล่าวเมื่อนำมาติดตั้งใหม่ก็สามารถติดตั้งและใช้งานได้ดีตามปกติ การกระทำเช่นนี้ของจำเลยที่ 1 เห็นได้ว่ามิได้ประสงค์ต่อผลที่จะเอาทรัพย์ของโจทก์ไปเป็นของตนหรือของผู้อื่น แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์นำสิ่งของดังกล่าวไปฝากที่บ้านของจำเลยที่ 3 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ และจำเลยที่ 3 ผู้รับฝากทรัพย์ข้างต้นย่อมไม่มีความผิดฐานรับของโจร
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1141
ป.อ. ม. 334, ม. 335, ม. 357


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6735/2548
แม้บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นจะระบุว่าจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นพิพาท ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1141 แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่ไม่เด็ดขาด คู่ความมีสิทธินำสืบหักล้างได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การยังไม่อาจรับฟังเป็นยุติได้ การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องคำให้การแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้และมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยจึงไม่ชอบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่สืบพยานโจทก์ต่อไปและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานและอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นขอให้โจทก์ชนะคดี โดยอุทธรณ์มาในฉบับเดียวกัน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เฉพาะในปัญหาอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งงดสืบพยานโดยเห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่ยุติ เห็นสมควรให้ฟังพยานหลักฐานโจทก์จำเลยเสียก่อนโดยไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ขอให้โจทก์ชนะคดี และพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่การสืบพยานโจทก์ต่อไปและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี แม้โจทก์อุทธรณ์ขอให้โจทก์ชนะคดีมาด้วยก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์ก็ไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาตามคำฟ้องและคำให้การ เพราะยังไม่มีข้อเท็จจริงเนื่องจากศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย ต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยจนสิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่ จึงเป็นกรณีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งตามตาราง 1 ข้อ (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ. กำหนดให้เสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1141
ป.วิ.พ. ม. 84, ม. 85, ม. 149, ม. 183, ตาราง 1 (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที