“มาตรา 1133 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1133” คืออะไร?
“มาตรา 1133” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1133 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ หุ้นซึ่งโอนกันนั้น ถ้าเป็นหุ้นอันยังมิได้ส่งเงินใช้เต็มจำนวนค่าหุ้น ท่านว่าผู้โอนยังคงต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ยังมิได้ส่งใช้ให้ครบถ้วนนั้น แต่ว่า
(๑) ผู้โอนไม่ต้องรับผิดในหนี้อันหนึ่งอันใดของบริษัทซึ่งได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังโอน
(๒) ผู้โอนไม่ต้องรับผิดออกส่วนใช้หนี้ เว้นแต่ความปรากฏขึ้นแก่ศาลว่าบรรดาผู้ที่ยังถือหุ้นของบริษัทอยู่นั้นไม่สามารถออกส่วนใช้หนี้อันเขาจะพึงต้องออกใช้นั้นได้
ข้อความรับผิดเช่นว่ามานั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้โอนเมื่อพ้นสองปีนับแต่ได้จดแจ้งการโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1133” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1133 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5032/2538
จำเลยร่วมเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์หุ้นที่จำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 โอนให้แก่บริษัท ท.เป็นหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่เต็มจำนวนค่าหุ้น ถ้าปรากฏว่าบรรดาผู้ถือหุ้นของบริษัทอยู่นั้นไม่สามารถออกส่วนใช้หนี้อันจะพึงต้องออกใช้นั้น จำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9ผู้โอนหุ้นดังกล่าวก็ยังคงต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ยังมิได้ ส่งใช้ให้ครบถ้วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1133 โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9ให้รับผิดในจำนวนเงินดังกล่าวได้ ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และการที่โจทก์นำสืบว่าผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยร่วมบางคนรวมทั้งตัวโจทก์ด้วยเป็นผู้มีชื่อถือหุ้นแทนผู้บริหารของธนาคารชุดเดิม ก็เป็นการนำสืบเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าผู้ที่มีชื่อถือหุ้นของจำเลยร่วมอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถออกส่วนใช้หนี้อันเขาจะพึงต้องออกใช้นั้นได้ตามมาตรา 1133(2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งจำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ และศาลชั้นต้นก็ได้กำหนดประเด็นดังกล่าวไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานด้วยจึงหาใช่เป็นการนำสืบนอกฟ้องไม่ การที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9ผู้โอนหุ้นรับผิดออกส่วนใช้หนี้ของจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1133 นั้นโจทก์หาได้ฟ้องโดยใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยร่วมในการเรียกค่าหุ้นหรือยึดทรัพย์จากผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยร่วมไม่แต่เป็นการที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9รับผิดออกส่วนใช้หนี้ของจำเลยร่วม ตามมาตรา 1133โดยใช้สิทธิของโจทก์เองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยร่วมโดยตรงทั้งนี้เพราะจำเลยร่วมหามีสิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้ไม่โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 ได้โดยไม่จำต้องเรียกค่าหุ้นหรือยึดทรัพย์จากผู้ถือหุ้นของจำเลยร่วมก่อน การส่งคำบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1121 นั้นเป็นกรณีที่กรรมการของบริษัทซึ่งผู้ถือหุ้นอยู่เรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เงินค่าหุ้น ไม่ใช่เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ของบริษัทเรียกให้ผู้โอนหุ้นซึ่งยังมิได้ส่งเงินใช้เต็มจำนวนค่าหุ้นรับผิด ออกส่วนใช้หนี้ตามมาตรา 1133 ซึ่งเจ้าหนี้ของบริษัทมีสิทธิ เรียกร้องตามสิทธิของตนเองได้โดยตรง ดังนั้น ก่อนฟ้องโจทก์จึงไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตามมาตรา 1121
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 5, ม. 1121, ม. 1133
ป.วิ.พ. ม. 55, ม. 182, ม. 183
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2531/2538
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1129วรรคสามที่บัญญัติถึงการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นที่ยังไม่ได้จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นว่าจะนำมาใช้ยันแก่บริษัทไม่ได้นั้นหมายถึงกรณีที่ผู้โอนและผู้รับโอนโอนหุ้นกันเองโดยบริษัทมิได้ร่วมรู้เห็นอยู่ด้วย ขณะที่มีการโอนขายหุ้นกันส. ผู้รับโอนเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยแม้ส. จะรับโอนหุ้นไว้ในฐานะส่วนตัวแต่ในฐานะที่ส. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยอยู่ด้วยจึงต้องถือว่าบริษัทจำเลยร่วมรู้เห็นและยินยอมให้มีการโอนหุ้นแล้วบริษัทจำเลยมีหน้าที่ต้องดำเนินการจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นโดยไม่จำต้องให้ผู้โอนหรือผู้รับโอนคนหนึ่งคนใดแจ้งให้ดำเนินการอีกการที่บริษัทจำเลยไม่ดำเนินการจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นจึงเป็นความผิดของบริษัทจำเลยเองและการที่บริษัทจำเลยยกเหตุที่ไม่มีการจดแจ้งการโอนขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อให้ผู้โอนต้องรับผิดย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา5บริษัทจำเลยหรือผู้คัดค้านจะเรียกให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นที่ยังค้างชำระโดยอ้างว่าการโอนหุ้นไม่สมบูรณ์ตามมาตรา1129วรรคสามไม่ได้ส่วนมาตรา1133เกี่ยวกับความรับผิดของผู้โอนหุ้นสำหรับจำนวนเงินที่ยังส่งใช้ไม่ครบตามมูลค่าของหุ้นที่โอนหมายถึงความรับผิดต่อเจ้าหนี้ของบริษัทที่ผู้โอนเคยถือหุ้นอยู่ไม่ได้หมายถึงว่าผู้โอนจะต้องรับผิดต่อบริษัทในเงินค่าหุ้นซึ่งตนยังส่งใช้ไม่ครบแม้จะได้โอนหุ้นไปแล้วผู้คัดค้านจึงเรียกให้ผู้ร้องชำระเงินแก่ผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา119ไม่ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 5, ม. 1129, ม. 1133
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 119
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2534
เมื่อการโอนหุ้นมีกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทลงชื่อเป็นพยานพร้อมกับประทับตราสำคัญของบริษัท แม้จะไม่มีการจดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักงานผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น การโอนนั้นสามารถใช้ยันบริษัทได้ ไม่เป็นกรณีที่ต้องตกอยู่ในบังคับมาตรา 1129วรรคสาม ความรับผิดของผู้โอนสำหรับจำนวนเงินในมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1133 นั้น หมายถึงความรับผิดต่อเจ้าหนี้ของบริษัทที่ผู้โอนเคยถือหุ้นอยู่ หาได้หมายถึงว่าผู้โอนยังต้องรับผิดในมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบต่อบริษัท ทั้งที่ได้โอนหุ้นนั้นไปแล้ว.
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1129 วรรคสาม, ม. 1133
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 119