Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1129 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1129 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1129” คืออะไร? 


“มาตรา 1129” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1129 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น ซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
              การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่ง ตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย
              การโอนเช่นนี้จะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น “

อ่านคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "หุ้น" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1129” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1129 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3829/2564
ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น และข้อบังคับจำเลยที่ 1 ข้อ 2 ระบุว่า หุ้นของบริษัทเป็นหุ้นสามัญชนิดระบุชื่อ ส่วนข้อ 3 ระบุด้วยว่า การโอนหุ้นนั้น ผู้จะโอนจะต้องบอกกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน และหลังจากนั้นแล้ว 30 วัน หากไม่มีผู้ใดประสงค์จะรับโอน จึงจะโอนให้แก่บุคคลภายนอกได้ และจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการด้วย แม้จำเลยที่ 1 ไม่มีการจัดทำใบหุ้นให้ผู้ถือหุ้นแต่ละราย แต่เมื่อหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 มีการออกเลขหมายใบหุ้นแล้ว กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 1129 วรรคหนึ่ง ด้วย แม้จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีการตั้งคณะกรรมการ แต่เมื่อข้อบังคับบริษัทซึ่งได้จดทะเบียนไว้และผูกพันเป็นสัญญาในระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทกำหนดให้การโอนหุ้นต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ย่อมเป็นหน้าที่ของบริษัทต้องดำเนินการให้มีคณะกรรมการบริษัทเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับ การไม่มีคณะกรรมการบริษัทมิใช่เหตุที่จะยกขึ้นปฏิเสธการปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการโอนหุ้นดังกล่าว ทั้งข้อบังคับจำเลยที่ 1 มิได้มีข้อยกเว้นว่า ถ้าเป็นการโอนหุ้นให้แก่บุคคลภายในครอบครัวหรือการโอนหุ้นให้แก่บุตรแล้วมิต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ข้อ 3 การที่ จ. โอนหุ้นตามฟ้องให้จำเลยที่ 3 บุตรของ จ. ซึ่งไม่ใช่ผู้ถือหุ้นเดิมแต่เป็นบุคคลภายนอก โดยมิได้บอกกล่าวให้แก่โจทก์และผู้ถือหุ้นเดิมคนอื่น ๆ ทราบเพื่อให้โจทก์และผู้ถือหุ้นเดิมมีโอกาสรับโอนหุ้นจาก จ. ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของจำเลยที่ 1 เสียก่อนจึงไม่เป็นไปตามข้อบังคับและเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นที่ฝ่าฝืนต่อข้อบังคับนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1129
ป.วิ.พ. ม. 55


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14225/2558
จำเลยที่ 1 และ ป. ทำหนังสือสัญญาโอนหุ้นให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสามในวันที่ 1 ตุลาคม 2547 เมื่อหุ้นดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 และ ป. โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัทก็ทราบเรื่องดังกล่าวดีตั้งแต่วันนั้น ถือว่าบริษัททราบเรื่องการโอนหุ้นดังกล่าวแล้ว โจทก์ร่วมทั้งสามใช้ยันกับบริษัทได้ว่าเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทแล้ว แม้จะไม่ได้มีการจดแจ้งชื่อโจทก์ร่วมทั้งสามในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทก็ตาม และเป็นหน้าที่ของกรรมการบริษัทดังกล่าวที่จะต้องไปจดแจ้งชื่อโจทก์ร่วมทั้งสามในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น เมื่อบริษัทมีการเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นย่อมมีผลให้โจทก์ร่วมทั้งสามไม่ได้รับแจ้งให้เข้าร่วมประชุมด้วย และที่ประชุมก็มีมติให้แก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการแบ่งประเภทของหุ้น และกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงทำให้โจทก์ร่วมทั้งสามเสียหายเนื่องจากไม่สามารถคัดค้านเกี่ยวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของบริษัทดังกล่าวได้ โจทก์ร่วมทั้งสามย่อมเป็นผู้เสียหายโดยตรงในกรณีนี้ที่จะแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการบริษัทดังกล่าวได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1129
ป.วิ.อ. ม. 2 (4)


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9483/2558
การโอนหุ้นระหว่าง ภ. กับโจทก์มีการทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้โอนกับผู้รับโอนโดยมีพยาน 2 คน ลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วย จึงถือว่าการโอนหุ้นดังกล่าวได้กระทำตามแบบที่กำหนดไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง และตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยมิได้กำหนดว่าการโอนหุ้นต้องได้รับความยินยอมของบริษัท ดังนั้น การโอนหุ้นระหว่าง ภ. กับโจทก์จึงไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากบริษัทจำเลยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1129 วรรคหนึ่ง และไม่ว่าหุ้นตามฟ้องจะเป็นสินสมรสระหว่าง ภ. กับโจทก์ ซึ่งถือเป็นการแบ่งสินสมรส หรือเป็นสินส่วนตัวของ ภ. ก็ตาม ภ. ก็มีสิทธิโอนหุ้นดังกล่าวให้โจทก์ได้ ไม่ได้มีผลกระทบต่อบริษัทจำเลยและไม่ได้ทำให้การโอนหุ้นดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อการโอนหุ้นระหว่าง ภ. กับโจทก์เป็นการโอนที่ชอบ และโจทก์ในฐานะผู้รับโอนได้แจ้งให้จำเลยจดทะเบียนแก้ไขการโอนหุ้นลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมดำเนินการ การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1129
ป.วิ.พ. ม. 55
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที