Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1122 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1122 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1122” คืออะไร? 


“มาตรา 1122” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1122 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าและเงินอันจะพึงส่งใช้เป็นค่าหุ้นตามเรียกนั้นผู้ถือหุ้นคนใดมิได้ส่งใช้ตามวันกำหนดไซร้ ผู้นั้นจะต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ได้ส่งเสร็จ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1122” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1122 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3874/2560
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1112 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าผู้ถือหุ้นที่ยังมิได้ส่งใช้ค่าหุ้นตามวันกำหนด จำต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ได้ส่งเสร็จ แม้ตามมาตรา 1123 บัญญัติว่า "ถ้าผู้ถือหุ้นคนใดละเลยไม่ส่งใช้เงินที่เรียกค่าหุ้นตามวันกำหนด กรรมการจะส่งคำบอกกล่าวด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้นั้น ให้ส่งใช้เงินที่เรียกเก็บกับทั้งดอกเบี้ยด้วยก็ได้" ก็มิได้หมายความว่าหากโจทก์ไม่ได้แจ้งเรื่องการคิดดอกเบี้ยในหนังสือบอกกล่าวที่ส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 แล้วจะทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัด แต่มาตรา 7 บัญญัติว่า "ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี" และมาตรา 224 บัญญัติว่า "หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี..." ผู้ถือหุ้นจึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ นับแต่วันที่กำหนดส่งใช้เงินค่าหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1122 ประกอบมาตรา 7 และมาตรา 224
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.รัษฎากร ม. 12
ป.พ.พ. ม. 7, ม. 224, ม. 1122, ม. 1123


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 749/2553
คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือจะต้องแสดงเหตุผลตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงข้อยกเว้นตามมาตรา 37 วรรคสาม ประกอบด้วย เมื่อข้อยกเว้นตามมาตรา 37 วรรคสาม (2) ที่ว่าเหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีกเป็นปัญหาข้อเท็จจริงแต่โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องจึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือโจทก์ไม่สามารถยกขึ้นกล่าวในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2522 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
โจทก์ประกอบกิจการโรงงานน้ำตาล เมื่อชาวไร่อ้อยมีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อลงทุนปลูกอ้อย โจทก์จะจ่ายเงินให้ชาวไร่อ้อยตามจำนวนที่ชาวไร่อ้อยจะใช้ โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวจะนำอ้อยมาขายให้แก่โจทก์โดยหักหนี้ โจทก์ไม่ได้คิดดอกเบี้ยจากชาวไร่อ้อยและโจทก์ได้จ่ายเงินให้ชาวไร่อ้อยก่อนที่โจทก์จะขายใบอนุญาตประกอบโรงงานน้ำตาล จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ อันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (5)
โจทก์ให้กรรมการบริษัทกู้ยืมเงินหลายครั้งโดยไม่คิดดอกเบี้ยโดยไม่มีเหตุอันสมควรถือได้ว่าเป็นการประกอบกิจการโดยปกติทางการค้าของโจทก์อันเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ โจทก์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (5) เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดดอกเบี้ยตามการประเมินเพื่อให้โจทก์เสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/16 (6)
แม้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากผู้ถือหุ้นที่ค้างชำระได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1122 แต่ดอกเบี้ยกรณีลูกหนี้ค่าหุ้นค้างชำระเป็นค่าตอบแทนที่โจทก์เรียกเก็บเนื่องจากการใช้เงินค่าหุ้นการจัดตั้งบริษัทซึ่งกระทำเพียงคราวเดียว หาใช่เป็นดอกเบี้ยของกิจการโจทก์ที่จะเข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (5) เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดดอกเบี้ยให้โจทก์ต้องคำนวณกำไรสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) เท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจกำหนดดอกเบี้ยให้โจทก์ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เพราะไม่ใช่กรณีโจทก์ประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์
การประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ต้องมีลักษณะทำนองเดียวกับธนาคารพาณิชย์และจะต้องเป็นการประกอบกิจการโดยปกติด้วย สัญญาซื้อขายใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายระหว่างโจทก์กับบริษัท อ. มิใช่เป็นการกู้ยืมเงิน ดอกเบี้ยจากสัญญาดังกล่าวมิใช่ดอกเบี้ยจากการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
แม้โจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์หลักในการให้กู้ยืมเงิน แต่การที่โจทก์ให้บริษัทในกลุ่มเดียวกันกู้ยืมเงินหลายราย ถือได้ว่าเป็นการประกอบกิจการโดยปกติทางการค้าของโจทก์อันเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
การที่โจทก์ให้บริษัทในกลุ่มเดียวกันกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยที่โจทก์ต้องชำระให้แก่ธนาคารย่อมมิใช่ปกติวิสัยของผู้ทำการค้าทั่วไป แม้จะอ้างว่าบริษัทผู้กู้ขาดความเชื่อมั่นจากสถาบันการเงินจนโจทก์ต้องให้กู้ยืมก็ตาม แต่ในการให้กู้ก็ไม่จำเป็นที่โจทก์ต้องลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าราคาตลาด ทั้งโจทก์ยังมีผลขาดทุนติดต่อกันมาหลายปี จึงเป็นกรณีไม่มีเหตุอันสมควร
การบันทึกรับรู้รายได้ของโจทก์ในส่วนดอกเบี้ยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับบริษัทผู้กู้นั้นเป็นการเลือกปฏิบัติให้เป็นไปตามวิธีการ หลักเกณฑ์และการปฏิบัติทางบัญชีเพื่อประโยชน์ในการคำนวณรายรับ เป็นคนละกรณีกับอำนาจประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในการที่จะกำหนดดอกเบี้ยตามราคาตลาดในกรณีที่การให้กู้ยืมเงินมีดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามที่ ป.รัษฎากร มาตรา 91/16 (6) ให้อำนาจไว้เพื่อใช้เป็นฐานภาษีในการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะดังเช่นกรณีของโจทก์ โจทก์จะอ้างเกณฑ์เงินสดซึ่งใช้สำหรับดอกเบี้ยที่โจทก์ตกลงกับบริษัทผู้กู้มาใช้อ้างในกรณีเจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจประเมินในส่วนดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าราคาตลาดไม่ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1122
ป.รัษฎากร ม. 65 ทวิ (4), ม. 91/2 (5), ม. 91/16 (6)
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2522 ม. 29
พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ม. 37


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5857/2549
โจทก์มีหน้าที่หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย เมื่อหักแล้วต้องนำส่งภายใน 7 วัน นับแต่วันที่จ่ายเงินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 52 และในการตรวจสอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย นั้น เจ้าพนักงานประเมินอาจส่งหนังสือแจ้งโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ยื่นบัญชีจ่ายเงินได้หรือพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องเพื่อตรวจสอบการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ตามที่เห็นสมควร และเมื่อได้รับหนังสือแจ้งความดังกล่าวให้ปฏิบัติตามภายใน 15 วัน ตามมาตรา 51 แห่ง ป.รัษฎากร จึงเป็นกรณีที่ไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบไต่สวนภายในกำหนดเวลา ตามมาตรา 19 แห่ง ป.รัษฎากร และสิทธิเรียกร้องของรัฐเพื่อเรียกเอาค่าภาษีอากรมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 การที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการตรวจสอบพบว่าโจทก์นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ไม่ครบถ้วนและแจ้งให้โจทก์นำส่งให้ครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระค่าหุ้นจาก น. ผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นจึงต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1122 ประกอบมาตรา 7 การที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระค่าหุ้นดังกล่าว แต่กลับลงบัญชีว่าได้ชำระแล้ว เป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นเสมือนให้กู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ยและโจทก์จะอ้างการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1120 ถึง 1121 อันเป็นเรื่องการบอกกล่าวให้ชำระค่าหุ้นเป็นเหตุให้ถือว่าผู้ถือหุ้นยังไม่ต้องเสียดอกเบี้ยไม่ได้ด้วย
โจทก์นำเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีบางส่วนไปใช้ในการลงทุนก่อสร้างโรงงาน รายจ่ายดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวจึงมิใช่รายจ่ายในการดำเนินธุรกิจ แต่ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5) ประกอบ พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 มาตรา 4
เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ปัญหาว่าโจทก์ขายรถยนต์ต่ำกว่ามูลค่าคงเหลือตามบัญชีหรือไม่ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ การประเมินในปัญหาดังกล่าวจึงยุติ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินในปัญหาดังกล่าวตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 7 (1) มาตรา 8 ประกอบ ป.รัษฎากร มาตรา 30
คำอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ได้ระบุว่าโจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ คงบรรยายเพียงว่าโจทก์คัดค้านการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างไรเท่านั้น การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะจึงถือว่ายุติ แม้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้ ก็ไม่ทำให้การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งยุติแล้วกลับเป็นไม่ยุติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ
โจทก์ไม่ได้รับชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนเติมมูลค่า แต่ลงบัญชีว่าได้รับชำระเงินค่าหุ้นเติมมูลค่าถือเป็นการกระทำโดยจงใจ และการที่โจทก์ให้กรรมการและพนักงานกู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ยโดยไม่มีเหตุสมควร นั้น มิใช่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเจ้าหน้าที่บัญชีของโจทก์ กรณีไม่มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มให้แก่โจทก์นอกเหนือไปจากที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.รัษฎากร ม. 19, ม. 30, ม. 51, ม. 52, ม. 59, ม. 65 ทวิ (4), ม. 65 ตรี (5)
ป.พ.พ. ม. 7, ม. 193/31, ม. 1120, ม. 1121, ม. 1122
พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 ม. 4
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 7 (1), ม. 8
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที