“มาตรา 1113 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1113” คืออะไร?
“มาตรา 1113” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1113 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องรับผิดร่วมกันและโดยไม่จำกัด ในบรรดาหนี้และการจ่ายเงินซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ และแม้จะได้มีอนุมัติก็ยังคงต้องรับผิดอยู่เช่นนั้นไปจนกว่าจะได้จดทะเบียนบริษัท “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1113” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1113 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 133/2544
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจากโจทก์เนื้อที่ 107 ตารางวา แต่จดทะเบียนโอนเกินกว่าที่ตกลงไป 11 ตารางวา ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน หรือให้จำเลยชำระค่าเสียหายเท่าราคาที่ดินตารางวาละ 120,000 บาท เมื่อศาลเห็นว่าคำขอท้ายฟ้องที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินไม่สามารถเพิกถอนได้ ก็ยกคำขอส่วนนี้ และพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,320,000 บาท ตามคำขอท้ายฟ้องที่ว่า หากสภาพแห่งหนี้ไม่อาจบังคับได้ขอให้จำเลยชำระค่าที่ดิน ซึ่งหมายความว่า เมื่อเพิกถอนนิติกรรมไม่ได้ ก็ขอให้จำเลยชดใช้ค่าที่ดินส่วนที่เกินได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
สัญญาขายเหมาคือสัญญาซื้อขายที่ผู้ซื้อตกลงซื้อทรัพย์สินที่ผู้ขายเสนอขายหมดทั้งจำนวนในราคาที่ตกลงกัน ซึ่งผู้ซื้อต้องผูกพันชำระราคาและผู้ขายต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดตามที่ตกลงกันไว้ ทั้งนี้ไม่ว่าทรัพย์สินที่ซื้อขายจะมีปริมาณมากหรือน้อยกว่าที่คิดคำนวณไว้ ดังนั้น เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์จำเลยได้ระบุตัวทรัพย์และส่วนของทรัพย์ที่จะซื้อจะขายไว้แน่นอน คือที่ดินเนื้อที่ 107 ตารางวา แต่ในส่วนของราคาระบุว่าให้เพิ่มหรือลดลงได้ตามเนื้อที่ซึ่งยังไม่แน่นอนว่าจะมีราคาเท่าใด จึงไม่ใช่สัญญาขายเหมา
จำเลยที่ 1 กับที่ 3 ตกลงกันว่าจะสร้างอาคารพาณิชย์บนที่ดินของโจทก์ จึงให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ ระหว่างนั้นได้ดำเนินการจดทะเบียนตั้งบริษัทจำเลยที่ 2 ขึ้น โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและจำเลยที่ 1 เป็นผู้เริ่มก่อการและผู้ถือหุ้น เมื่อถึงกำหนดก็จดทะเบียนโอนที่ดินเป็นชื่อจำเลยที่ 3 พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของโจทก์ จึงต้องรับผิดตามสัญญาจะซื้อจะขาย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 453, ม. 1096, ม. 1097, ม. 1113
ป.วิ.พ. ม. 142, ม. 172
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2543
ตามสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้ขณะทำสัญญาโจทก์ยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล แต่อยู่ระหว่างการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท ซึ่งผู้เริ่มก่อการสามารถดำเนินการก่อหนี้หรือทำสัญญาใด ๆ ได้ยกเว้นกรณีตาม มาตรา 1102 และเมื่อจดทะเบียนบริษัทเสร็จจนมีสภาพเป็นนิติบุคคลแล้ว โจทก์ก็ยอมรับผลแห่งสัญญาโดยเข้าทำงานจนเสร็จ จึงเป็นการให้สัตยาบันแก่สัญญาที่ผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้ตามมาตรา 1108 (2) สัญญาดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ ขณะเดียวกันสัญญาที่ทำขึ้นก็ไม่ใช่นิติกรรมอำพราง เพราะสัญญาทำขึ้นตรงกับเจตนาของคู่กรณี แม้ตอนแรกโจทก์จะใช้ชื่อจำเลยเป็นตัวแทนในการประมูลงานและทำสัญญาดังกล่าวต่อกรมทรัพยากรธรณี แต่ต่อมาโจทก์จำเลยประสงค์จะแปลงหนี้ใหม่เปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญจากการใช้ชื่อแทนหรือจากตัวการตัวแทนมาเป็นผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้าง โดยโจทก์และจำเลยต่างยอมรับเอาข้อกำหนดตามสัญญารับจ้างดังกล่าวปฏิบัติต่อกันตลอดมา เป็นต้นว่า การทวงถามให้ชำระหนี้และปฏิบัติการชำระหนี้อันมีลักษณะทำนองเดียวกันกับข้อกำหนดในแบบสัญญาจ้างระหว่างกรมทรัพยากรธรณีกับจำเลย สัญญารับจ้างดังกล่าวจึงมีผลบังคับได้ในรูปของการที่ได้แปลงหนี้มาใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง และมาตรา 351 โดยอนุโลม
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) บัญญัติว่า "ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด แต่พิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้" อันถือเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 142 วรรคหนึ่ง ที่ว่าศาลต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ดังนั้น ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ซึ่งลูกหนี้หรือจำเลยอาจจะยังคงค้างชำระอยู่บางส่วน เจ้าหนี้หรือโจทก์ก็ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้ตามมูลหนี้ที่ยังค้างอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 194 ได้ ดังนั้น ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจวินิจฉัย และพิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 151, ม. 152, ม. 155, ม. 194, ม. 349, ม. 351, ม. 1102, ม. 1113, ม. 1108
ป.วิ.พ. ม. 142 วรรคหนึ่ง, ม. 142 (2)
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5585/2541
แม้ในขณะที่โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับจำเลยที่ 2 ตามเอกสารที่พิพาท จำเลยที่ 1ยังมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3ก็เป็นผู้ร่วมก่อการและกรรมการของจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ชำระเงินค่าจ้างก่อสร้างให้โจทก์หลังจากจำเลยที่ 2 ทำสัญญาแล้ว ประกอบกับจำเลยที่ 3เป็นผู้บริหารโรงแรมร่วมกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3มีส่วนรู้เห็นร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ด้วยและเมื่อโจทก์ส่งมอบอาคารให้แก่จำเลยทั้งสามในวันรุ่งขึ้นจำเลยทั้งสามก็ได้เปิดดำเนินกิจการโรงแรมในอาคารดังกล่าว จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 ยอมรับเอาสัญญาที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์มาใช้ประโยชน์ในการดำเนินกิจการของตน จำเลยที่ 1 ย่อมต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย สำหรับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขตัวอาคาร จำเลยที่ 2เป็นผู้ตกลงกับโจทก์ให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบแปลนเป็นอาคารโรงแรมเอง เมื่อโจทก์ก่อสร้างอาคารเสร็จจำเลยทั้งสามก็ได้ยอมรับมอบอาคารจากโจทก์ โดยดีและเปิดดำเนินกิจการเป็นโรงแรมเช่นนี้ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาแก้ไข แบบแปลนอาคารดังกล่าว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1108, ม. 1110, ม. 1113