Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1108 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1108 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1108” คืออะไร? 


“มาตรา 1108” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1108 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ กิจการอันจะพึงทำในที่ประชุมตั้งบริษัทนั้น คือ
              (๑)๗ ทำความตกลงตั้งข้อบังคับต่าง ๆ ของบริษัท ทั้งนี้ ควรกําหนดวิธีการแก้ไขปัญหา หรือข้อขัดแย้งที่ไม่สามารถหาข้อยุติหรือไม่สามารถลงมติระหว่างกรรมการหรือผู้ถือหุ้นไว้ด้วย
              (๒) ให้สัตยาบันแก่บรรดาสัญญาซึ่งผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้ และค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเขาต้องออกไปในการเริ่มก่อบริษัท
              (๓) วางกำหนดจำนวนเงินซึ่งจะให้แก่ผู้เริ่มก่อการ ถ้าหากมีเจตนาว่าจะให้
              (๔) วางกำหนดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิ ทั้งกำหนดสภาพและบุริมสิทธิแห่งหุ้นนั้น ๆ ว่าเป็นสถานใดเพียงใด ถ้าหากจะมีหุ้นเช่นนั้นในบริษัท
              (๕) วางกำหนดจำนวนหุ้นสามัญ หรือหุ้นบุริมสิทธิซึ่งออกให้เหมือนหนึ่งว่าได้ใช้เต็มค่าแล้วหรือได้ใช้แต่บางส่วนแล้ว เพราะใช้ให้ด้วยอย่างอื่นนอกจากตัวเงิน และกำหนดว่าเพียงใดซึ่งจะถือเอาเป็นว่าได้ใช้เงินแล้ว ถ้าหากจะมีหุ้นเช่นนั้นในบริษัท
                   ให้แถลงในที่ประชุมโดยเฉพาะว่า ซึ่งจะออกหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิให้เหมือนหนึ่งว่าได้ใช้เงินแล้วเช่นนั้น เพื่อแทนคุณแรงงานหรือตอบแทนทรัพย์สินอย่างใด ให้พรรณนาจงชัดเจนทุกประการ
              (๖) เลือกตั้งกรรมการและพนักงานสอบบัญชีอันเป็นชุดแรกของบริษัท และวางกำหนดอำนาจของคนเหล่านี้ด้วย “

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "ประชุมตั้งบริษัท" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "จดทะเบียนบริษัท" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1108” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1108 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13810/2558
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ ธ. พ. จำเลยที่ 1 ก. จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตกลงร่วมลงทุนซื้อที่ดินเพื่อนำมาจัดสรรขาย โดยมีหลักการและข้อตกลงว่า ที่ดินที่ร่วมจัดสรรทั้งหมดมีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ การค้าที่ดินต้องขออนุญาตจัดสรรจากราชการให้ถูกต้อง โดยต้องจัดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินการ... หลังจากนั้นได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัท อ. และบริษัท ม. ขึ้น และโจทก์เบิกความเป็นพยานว่า โจทก์ จำเลยที่ 1 ก. จำเลยที่ 3 และที่ 4 ธ. กับ พ. ร่วมลงทุนจัดสรรที่ดินจำหน่าย โดยโจทก์ ธ. และ พ. ลงทุนด้วยเงิน ส่วนจำเลยที่ 1 และ ก. ลงทุนด้วยที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ ก. เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ ที่ดินที่ ก. ทำสัญญาจะซื้อจะขายจาก ป. และ ท. เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ กับที่ดินซึ่งจำเลยที่ 1 ให้ อ. กับ ว. บุตรชายถือกรรมสิทธิ์แทน สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ลงหุ้นด้วยที่ดิน ในการนี้ผู้ถือหุ้นทุกคนเห็นว่าการดำเนินการต้องทำในรูปนิติบุคคลตามระเบียบราชการ จึงจะจัดตั้งบริษัทขึ้น 2 บริษัท เพื่อดำเนินกิจการจัดสรรที่ดิน แบ่งเป็นบริษัทละไม่เกิน 500 แปลง จากคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่า การตกลงกันระหว่างโจทก์กับผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ ในการจัดสรรที่ดินจำหน่ายตามฟ้องนี้ มีลักษณะเป็นการตกลงกันของผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัท หาใช่มีเจตนาร่วมกันประกอบกิจการเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนไม่ เพราะผู้ถือหุ้นทุกคนมีเจตนามาแต่แรกที่จะจัดตั้งบริษัทขึ้นเพื่อดำเนินกิจการจัดสรรที่ดิน การทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่จะนำมาจัดสรรแปลงต่างๆ จึงเป็นไปเพื่อกิจการของบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นมา ดังนั้นเมื่อมีการจดทะเบียนตั้งบริษัทในเวลาต่อมาตามที่ผู้เริ่มก่อการตกลงกันแล้ว บรรดานิติกรรมสัญญาต่างๆ ที่ผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้ และค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งผู้เริ่มก่อการได้ออกไปในการเริ่มก่อตั้งบริษัท เมื่อได้ให้สัตยาบันในการประชุมตั้งบริษัทแล้วย่อมผูกพันบริษัท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1108 (2) ผู้เริ่มก่อการคนใดออกค่าใช้จ่ายไปย่อมต้องไปว่ากล่าวเอาจากบริษัทที่จดทะเบียนตั้งขึ้นตามที่ตกลงกัน
ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนตั้งบริษัท อ. และบริษัท ม. โจทก์ในฐานะผู้เริ่มก่อการบริษัทได้จ่ายเงินเป็นค่าที่ดิน ทั้งปรากฏต่อมาว่า บริษัท ม. ขออนุญาตค้าที่ดินแปลงที่ปรากฏในหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย จึงน่าเชื่อว่ามีการให้สัตยาบันในเรื่องนี้ในที่ประชุมตั้งบริษัทแล้ว ดังนี้ บรรดาค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่ผู้เริ่มก่อการทำไว้ เมื่อบริษัทถูกจัดตั้งขึ้นแล้ว ผู้ที่ออกเงินค่าใช้จ่ายย่อมต้องไปว่ากล่าวเอาแก่บริษัททั้งสองเอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เริ่มก่อการด้วยคนหนึ่งให้คืนเงินแก่โจทก์ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1108 (2)
ป.วิ.พ. ม. 55, ม. 142 (5)


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2543
ตามสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้ขณะทำสัญญาโจทก์ยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล แต่อยู่ระหว่างการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท ซึ่งผู้เริ่มก่อการสามารถดำเนินการก่อหนี้หรือทำสัญญาใด ๆ ได้ยกเว้นกรณีตาม มาตรา 1102 และเมื่อจดทะเบียนบริษัทเสร็จจนมีสภาพเป็นนิติบุคคลแล้ว โจทก์ก็ยอมรับผลแห่งสัญญาโดยเข้าทำงานจนเสร็จ จึงเป็นการให้สัตยาบันแก่สัญญาที่ผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้ตามมาตรา 1108 (2) สัญญาดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ ขณะเดียวกันสัญญาที่ทำขึ้นก็ไม่ใช่นิติกรรมอำพราง เพราะสัญญาทำขึ้นตรงกับเจตนาของคู่กรณี แม้ตอนแรกโจทก์จะใช้ชื่อจำเลยเป็นตัวแทนในการประมูลงานและทำสัญญาดังกล่าวต่อกรมทรัพยากรธรณี แต่ต่อมาโจทก์จำเลยประสงค์จะแปลงหนี้ใหม่เปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญจากการใช้ชื่อแทนหรือจากตัวการตัวแทนมาเป็นผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้าง โดยโจทก์และจำเลยต่างยอมรับเอาข้อกำหนดตามสัญญารับจ้างดังกล่าวปฏิบัติต่อกันตลอดมา เป็นต้นว่า การทวงถามให้ชำระหนี้และปฏิบัติการชำระหนี้อันมีลักษณะทำนองเดียวกันกับข้อกำหนดในแบบสัญญาจ้างระหว่างกรมทรัพยากรธรณีกับจำเลย สัญญารับจ้างดังกล่าวจึงมีผลบังคับได้ในรูปของการที่ได้แปลงหนี้มาใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง และมาตรา 351 โดยอนุโลม

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) บัญญัติว่า "ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด แต่พิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้" อันถือเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 142 วรรคหนึ่ง ที่ว่าศาลต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ดังนั้น ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ซึ่งลูกหนี้หรือจำเลยอาจจะยังคงค้างชำระอยู่บางส่วน เจ้าหนี้หรือโจทก์ก็ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้ตามมูลหนี้ที่ยังค้างอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 194 ได้ ดังนั้น ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจวินิจฉัย และพิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 151, ม. 152, ม. 155, ม. 194, ม. 349, ม. 351, ม. 1102, ม. 1113, ม. 1108
ป.วิ.พ. ม. 142 วรรคหนึ่ง, ม. 142 (2)


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5585/2541
แม้ในขณะที่โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับจำเลยที่ 2 ตามเอกสารที่พิพาท จำเลยที่ 1ยังมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3ก็เป็นผู้ร่วมก่อการและกรรมการของจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ชำระเงินค่าจ้างก่อสร้างให้โจทก์หลังจากจำเลยที่ 2 ทำสัญญาแล้ว ประกอบกับจำเลยที่ 3เป็นผู้บริหารโรงแรมร่วมกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3มีส่วนรู้เห็นร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ด้วยและเมื่อโจทก์ส่งมอบอาคารให้แก่จำเลยทั้งสามในวันรุ่งขึ้นจำเลยทั้งสามก็ได้เปิดดำเนินกิจการโรงแรมในอาคารดังกล่าว จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 ยอมรับเอาสัญญาที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์มาใช้ประโยชน์ในการดำเนินกิจการของตน จำเลยที่ 1 ย่อมต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย สำหรับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขตัวอาคาร จำเลยที่ 2เป็นผู้ตกลงกับโจทก์ให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบแปลนเป็นอาคารโรงแรมเอง เมื่อโจทก์ก่อสร้างอาคารเสร็จจำเลยทั้งสามก็ได้ยอมรับมอบอาคารจากโจทก์ โดยดีและเปิดดำเนินกิจการเป็นโรงแรมเช่นนี้ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาแก้ไข แบบแปลนอาคารดังกล่าว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1108, ม. 1110, ม. 1113
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที