Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1080 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1080 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1080” คืออะไร? 


“มาตรา 1080” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1080 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใด ๆ หากมิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด ๓ นี้ ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย
              ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนั้นมีอยู่หลายคนด้วยกัน ท่านให้ใช้บทบัญญัติสำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญเป็นวิธีบังคับในความเกี่ยวพันระหว่างคนเหล่านั้นเอง และความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนเหล่านั้นกับห้างหุ้นส่วน “

 

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติม ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1080” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1080 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 735/2561
จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการระหว่างวันที่ 8 กันยายน 2547 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2556 และมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการระหว่างวันที่ 24 กันยายน 2556 จนถึงปัจจุบัน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2556 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการในขณะนั้นทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์รับว่าเป็นหนี้ค่าสินค้าโจทก์โดยตกลงผ่อนชำระเป็นงวดๆ ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิด จำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 แม้หนี้ดังกล่าวจะเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 3 เข้ามาเป็นหุ้นส่วนก็ตาม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1052 ประกอบมาตรา 1077 (2) และมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เนื่องจากยังอยู่ในเวลาสองปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1087
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1052, ม. 1068, ม. 1077, ม. 1080, ม. 1087


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2561
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีผู้เป็นหุ้นส่วน 6 คน คือ โจทก์ทั้งสี่ อ. สามีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด และจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 2 บริหารกิจการห้างฯ จำเลยที่ 1 ในลักษณะก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อมามีมติเสียงข้างมากให้โจทก์ที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทนจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงต่อนายทะเบียน จำเลยที่ 2 ใช้อำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการในการลงมติแต่งตั้ง ถอดถอนกรรมการของบริษัท ผ. และบริษัท ท. ที่ห้างฯ จำเลยที่ 1 ถือหุ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวก โจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 2 ต่างฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งและอาญาจากมูลเหตุการบริหารงานของห้างฯ จำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีหนังสือฉบับลงวันที่ 24 มิถุนายน 2556 บอกเลิกห้างฯ เป็นเวลามากกว่า 6 เดือน ก่อนสิ้นรอบปีชำระบัญชีขอให้เลิกห้างและจัดการชำระบัญชีนั้น ตามคำฟ้องจึงเป็นการบรรยายสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ทั้งสี่และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างฯ จำเลยที่ 1 ได้กระทำล่วงละเมิดบทบังคับอันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่โจทก์ทั้งสี่โดยจงใจ มีเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ แต่เมื่อบทบัญญัติในเรื่องห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่ได้กล่าวถึงว่าหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมีสิทธิขอเลิกห้างฯ ได้หรือไม่ จึงต้องนำบทบัญญัติในเรื่องการเลิกห้างฯ ของห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้บังคับตามที่มาตรา 1080 บัญญัติไว้ และมีผลให้หุ้นส่วนคนใดอาจร้องขอให้ศาลสั่งเลิกห้างฯ ตามมาตรา 1057 (3) ได้ ดังนั้น โจทก์ทั้งสี่เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ย่อมมีอำนาจฟ้องขอเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. จำเลยที่ 1 และจัดการชำระบัญชีได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1057 (3), ม. 1080


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10525/2558
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080 ห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมเลิกกันเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย เมื่อ อ. หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ถึงแก่ความตายลงย่อมเป็นเหตุให้ห้างดังกล่าวเลิกกัน อันเป็นไปตามผลของกฎหมาย โดยมิจำต้องพิจารณาว่ามีข้อขัดแย้งกันระหว่างทายาทผู้เป็นหุ้นส่วนที่ถึงแก่ความตายกับหุ้นส่วนที่เหลือหรือไม่ และแม้มาตรา 1060 จะบัญญัติว่าในกรณีห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกกันเพราะเหตุตามมาตรา 1055 (4) หรือ (5) ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนที่ยังอยู่รับซื้อหุ้นของผู้ที่ออกจากหุ้นส่วนไป สัญญาหุ้นส่วนนั้นก็ยังคงใช้ได้ต่อไปในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนที่ยังคงอยู่ด้วยกัน แต่ก็ได้ความว่าหุ้นของ อ. ยังไม่มีการดำเนินการโอนไปยังทายาทหรือหุ้นส่วนอื่นแต่อย่างใด เหตุที่ทายาทยังไม่อาจรับโอนหุ้นของ อ. และห้างไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้เพราะค้างชำระค่าภาษีนั้นก็มิใช่เหตุอันจะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ห้างยังคงอยู่ต่อไป

ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกกันย่อมต้องมีการชำระบัญชีเพื่อประโยชน์ของผู้เป็นหุ้นส่วน ตลอดจนเจ้าหนี้ รวมทั้งบรรดาผู้ติดต่อค้าขายกับห้างหุ้นส่วนภายหลังจากห้างหุ้นส่วนจำกัดพ้นสภาพนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยผู้ชำระบัญชีจะเป็นผู้ชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วน จัดการใช้หนี้ และแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนนั้น โดยมาตรา 1249 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ถือว่าห้างหุ้นส่วนนั้นยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี และเมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันเพราะเหตุอื่นนอกจากล้มละลาย หุ้นส่วนผู้จัดการห้างย่อมเข้าเป็นผู้ชำระบัญชี เว้นไว้แต่สัญญาของห้างจะมีกำหนดไว้เป็นสถานอื่น แต่ถ้าไม่มีผู้ชำระบัญชีดังว่ามานี้ เมื่อพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นผู้มีส่วนได้เสียในการนี้ร้องขอ ศาลย่อมตั้งผู้ชำระบัญชีให้ได้ ตามมาตรา 1251 ซึ่งในกรณีของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. นี้ เมื่อเลิกกันเพราะ อ. หุ้นส่วนผู้จัดการถึงแก่ความตายและไม่ปรากฏว่ามีสัญญาหรือข้อบังคับของห้างกำหนดให้บุคคลใดเป็นผู้ชำระบัญชี ทั้งไม่มีผู้ใดเข้าเป็นผู้ชำระบัญชีของห้าง พนักงานอัยการ หรือผู้มีส่วนได้เสียย่อมร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีได้ ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียตามบทบัญญัติดังกล่าว นอกจากจะเป็นผู้เป็นหุ้นส่วนที่เหลือ ทายาท หรือผู้จัดการมรดกของผู้เป็นหุ้นส่วนที่ถึงแก่ความตายแล้ว ย่อมหมายรวมถึงบรรดาเจ้าหนี้ของห้างด้วยเพราะการชำระบัญชีย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้ หรือบรรดาผู้ติดต่อค้าขายกับห้างเป็นสำคัญ หากไม่มีการตั้งผู้ชำระบัญชีเพื่อสะสางทรัพย์สินหนี้สินของห้าง ผู้เป็นเจ้าหนี้หรือติดต่อค้าขายกับห้างอาจได้รับความเสียหายได้ เมื่อได้ความจากคำเบิกความผู้ร้องว่า ก่อน อ. ถึงแก่ความตาย ผู้ร้องได้เป็นโจทก์ฟ้องเรียกให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ชำระหนี้ตามสัญญาจ้างทำของต่อศาลจังหวัดอุทัยธานี อันเป็นการตั้งสิทธิเรียกร้องเพื่อบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของห้าง เช่นนี้ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีห้างได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1055, ม. 1060, ม. 1080, ม. 1249, ม. 1251
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที